ข่าวความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทคได้สร้างความฮือฮาอย่างมากในช่วงหลายวันที่ผ่านมา โดยความน่าสนใจอย่างหนึ่งอยู่ที่ หากการตกลงทำธุรกิจร่วมกันครั้งนี้สำเร็จ จะเกิดบริษัทใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งบริษัท ซึ่งจะทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Tech Company แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทรูและดีแทคจะออกไปจากสารบบ ทั้งสองบริษัทจะยังดำเนินธุรกิจต่อไป โดยธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมที่ทั้งทรูและดีแทคทำอยู่นี้ จะเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ธุรกิจของ Tech Company แห่งนี้เท่านั้น

ทำไมต้อง Transform จาก Telecom ไปเป็น Tech Company
ส่วนหนึ่งก็เพราะธุรกิจโทรคมนาคมกำลังถูกคุกคาม ทั้งด้านรายได้และบริการ จากธุรกิจตัวเบา (ที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง หรือลงทุนด้านโครงสร้าง) อย่าง OTT (Over the Top of the network หรือธุรกิจที่ให้บริการอยู่บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) ที่กำลังได้รับความนิยมสูงทั่วโลกและทำรายได้มหาศาลอย่างต่อเนื่อง เช่น Facebook, LINE, YouTube, Instagram, Google, NetFlix, WeTV, VIU ทำให้ธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นธุรกิจตัวหนักที่ต้องลงทุนสูงมากระดับแสนล้านในด้านโครงสร้างเครือข่าย ต้องผันตัว หรือ transform ไปสู่ธุรกิจดิจิทัลที่กำลังมีอนาคตไกล
แต่ธรรมชาติของการเดินทางเพียงลำพัง เพื่อบุกเบิกเส้นทางใหม่ อาจจะค่อนข้างโดดเดี่ยวและยากลำบากสักหน่อย หากมีเพื่อนร่วมทางที่กำลังตกอยู่ในสภาพเดียวกัน แต่มีความเก่งกันคนละอย่าง สามารถจูงมือกันไปสู่จุดหมายเดียวกันได้ ก็ย่อมดีกว่า ทรูและดีแทคจึงตัดสินใจจับมือเป็นพันธมิตรลุยเส้นทางธุรกิจใหม่ไปด้วยกัน โดยอาศัยศักยภาพที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่ายมาช่วยเสริมกัน มุ่งสู่ความเป็นเลิศทั้งด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคม ด้วยเม็ดเงินการลงทุนจากทั้งสองบริษัท ที่มีความแข็งแกร่งเพียงพอในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะเท่าทันและต่อสู้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในระดับโลก รวมถึงสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้

เป็น Tech Company แล้วจะดียังไง
ตามนิยามของ Tech Company ที่ผู้บริหาของทรูและดีแทคบอกเล่าผ่านการแถลงข่าวพอจะสรุปได้ว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะขยับไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล เริ่มจากบริการในรูปแบบดิจิทัลเซอร์วิส ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาทำให้บริการและรูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลมีเดียโซลูชัน, AI, Cloud, IoT, Robotics, ระบบอัตโนมัติ (Automation), เมืองอัจฉริยะ ไปจนถึงเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) ที่จะนำมาปรับใช้กับธุรกิจ
นอกจากนี้ยังจะจัดตั้งกองทุน Venture Capital มูลค่าราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.6 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนการลงทุนใน Tech Startups ของไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยร่วมกันพัฒนาการให้บริการเครือข่าย (Connectivity) ให้เป็นระบบอัจฉริยะ รวมถึงเสริมศักยภาพและความรวดเร็วในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากโครงข่ายการสื่อสาร และส่งมอบเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ให้กับลูกค้า เรียกได้ว่าเป็นการร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ที่จะทำให้ประเทศก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมดิจิทัลระดับภูมิภาค สู้กับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการสื่อสารในระดับโลก

เทคโนโลยีอวกาศ เสริมศักยภาพการสื่อสาร
Space Technology ตรงนี้คงไม่ใช่การสร้างยานอวกาศออกไปนอกโลก แต่เป็นการนำเทคโนโลยระบบดาวเทียมมาปรับใช้กับธุรกิจดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมก็อาศัยเทคโนโลยีอวกาศ อย่างดาวเทียมสื่อสารเป็นสถานีรับส่งคลื่นวิทยุ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารกันอยู่แล้ว เทคโนโลยีนี้ยังสามารถเสริมศักยภาพของโครงข่าย 5G ได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ทำได้ง่าย รวดเร็ว ละเอียด ครอบคลุม แถมยังลดต้นทุนในการติดตั้งและบํารุงรักษา ในอนาคตการใช้เทคโนโลยีอวกาศจะขยายและพัฒนามากขึ้น จึงเป็นประโยชน์และมีความสําคัญต่อการสื่อสารในอนาคต
การประกาศความร่วมครั้งนี้จึงมีผลกับการเปลี่ยนแปลงและยกระดับวงการโทรคมนาคมที่มีความหมายอย่างยิ่ง