ปัจจุบันมีประเทศมากกว่า 50 ประเทศที่เร่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานไฟฟ้ามากถึง 1 ใน 10 ส่วนของความต้องการไฟฟ้าทั้งประเทศมาเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์และลม ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลก
ข้อมูลเชิงสถิติพบว่าในปี 2021 ที่ผ่านมาพลังงานจากลม แสงอาทิตย์ และพลังงานสะอาดอื่นๆ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 38% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของทั้งโลก หากนับเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์กับลม จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 10% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งโลก อีกทั้งสัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และลม นั้นเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015 จากผลของข้อตกลงปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (The Paris climate agreement)
โดย 3 ประเทศที่มีสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงการผลิตไฟฟ้ามาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และไฟฟ้าจากพลังงานลมมากที่สุด ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนมากกว่า 1 ใน 10 ของการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศจากพลังงานถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่พลังงานสะอาดแล้ว
โดยเฉพาะเวียดนามที่สามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าจากแสดงอาทิตย์ได้มากถึง 300% ในเวลาเพียงแค่ 1 ปี จากการสนับสนุนของรัฐบาลที่จริงจังในทุกด้าน จนทำให้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือนของประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นั้นไม่ได้มีผลแค่ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อภาพรวมของการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
อีกประเทศที่น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ เดนมาร์ก ซึ่งปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าในประเทศเดนมาร์กมากกว่า 50% นั้นเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ในขณะที่การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินของเดนมาร์กนั้นลดลงอย่างมากในปี 2021
แม้ข้อมูลเรื่องการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนพลังงานสะอาดจะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ในปี 2021 นี้ ความต้องการพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็เพิ่มขึ้นถึง 9% ในปี 2021 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1985 โดยประเทศที่มีสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มสูงที่สุดก็คือ จีน และอินเดีย ทั้งนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิล กลับมีความแตกต่างจากความต้องการพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซที่เพิ่มขึ้นเพียง 1% ทั้งโลก
อย่างไรก็ตามประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และแคนนาดา ต่างมีแผนที่จะเปลี่ยนผ่านการผลิตพลังงานไฟฟ้าไปสู่พลังงานสะอาด 100% ภายในอีก 15 ปี เพื่อลดภาวะโลกร้อน (Global warming) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การจะควบคุมให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นมากกว่า +1.5C ในปี 2030 นั้นโลกจะต้องเพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ให้มากถึง 20% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งโลกภายในปี 2030 เช่นกัน
ซึ่งนักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างมองว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่มีการใช้น้ำมัน ก๊าซ และพลังงานแบบดั้งเดิมมาเป็นเครื่องต่อรองบนเวทีโลกของรัสเซีย จะยิ่งกระตุ้นให้โลกเปลี่ยนไปหาพลังงานสะอาดเร็วขึ้น