รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองให้มุมมองต่อกรณีการควบรวมทรู กับ ดีแทคในประเทศไทย โดยเชื่อว่าจะส่งผลต่อสร้างอำนาจอธิปไตยทางด้านเทคโนโลยี เพราะ
โทรคมนาคมคือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ มีผลการการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในยุคปฏิวัติอุตสากรรม 4.0 ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีบริษัทไทยที่เป็น Tech Company ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอให้เกิดการแข่งขันได้ ส่วนประเด็นเรื่องดัชนี HHI ที่วัดการกระจุกตัวนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า HHI สูงจะส่งผลต่อราคาค่าบริการ ทั้งนี้เพราะในหลายประเทศ HHI สูงแต่ค่าบริการต่ำ เช่น จีน เป็นต้น
"ประเทศไทยเรามีหน่วยกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภค คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมดูแลราคาค่าบริการเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ผมมองว่าการผูกขาดไม่ใช่แค่จำนวนผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ต้องลงทุนสูงจึงมีผู้ประกอบการน้อยราย แต่สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือเรื่องการบิดเบือนตลาดที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะดัชนี HHI การกระจุกตัวไม่ใช่การมีอำนาจเหนือตลาด" รศ.ดร.สมชาย กล่าว
รศ.ดร.สมชาย กล่าวด้วยว่าการควบรวมกิจการนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ดี เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการผนึกกำลัง จะทำให้เกิด Economies of scale หรือ การประหยัดจากขนาด นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ และบริการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการขยายโครงข่าย 5G รวมทั้งอาจนำไปสู่การปรับลดราคาค่าบริการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังสนับสนุน New S-Curve หรือ กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึง ธุรกิจ SMEs และกลุ่ม Start Up ด้วย
“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค จึงต้องรอบคอบและมองให้รอบด้านทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และทางการเมืองระหว่างประเทศ ว่าหากเกิด Tech Company สัญชาติไทยที่เข้มแข็ง ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง และในส่วนของความกังวลเรื่องค่าบริการว่าอาจสูงขึ้นหากเกิดการควบรวมนั้น เรามีกลไกของภาครัฐทั้งจากกระทรวงพาณิชย์ และกสทช.ที่ควบคุมเพดานราคาไม่ให้ส่งผลกระทบถึงผู้บริโภค” รศ.ดร.สมชาย กล่าว