ไม่ว่าจะวัยไหนๆ เรื่องสุขภาพก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด การหมั่นสังเกตร่างกายตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบว่าโรค
เส้นเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease: CAD หรือ Coronary heart disease: CHD) อีกหนึ่งโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง ในตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ป่วยบางรายมักไม่ปรากฏอาการ วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันครับ
โรค
เส้นเลือดหัวใจตีบ ส่วนใหญ่หลายคนเข้าใจว่าเกิดจากการสะสมของไขมันเพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบตันยังเกิดจากการสะสมของแคลเซียม หรือ “คราบหินปูน” ได้เช่นเดียวกัน โดยคราบแคลเซียมหรือหินปูนที่เกาะอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ แม้เพียงเล็กน้อยก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน และนำไปสู่ภาวะหัวใจวายฉับพลันได้ คราบหินปูน หรือ แคลเซียมในร่างกายที่สะสมทับถมกันจนกลายเป็นก้อนแข็งๆ เกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งจากการเสื่อมโดยธรรมชาติของแคลเซียมในร่างกาย ที่สะสมจนกลายเป็นก้อนแข็ง หรืออาจเกิดจากกลไกของร่างกาย สร้างแคลเซียมมาป้องกันบริเวณที่เกิดการอักเสบ นอกจากนี้ยังอาจแฝงตัวมากับคราบไขมัน และเกาะติดบริเวณหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งและตีบตันการไหลเวียนเลือดไปสู่หัวใจลดน้อยลง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน เกิดจากความเสื่อมของเส้นเลือด เนื่องจากการสะสมของไขมันและคราบหินปูนไปเกาะเส้นเลือดแดงจนอาจเกิดการอุดตันส่งผลให้หลอดเลือดตีบ ทำให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้น้อยลงหรือไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหนักๆ หายใจติดขัด เหนื่อยง่าย เวียนศีรษะ อาการเหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้
อาการของโรค เส้นเลือดหัวใจตีบ 1. เจ็บแน่นหน้าอกตรงกลาง หายใจหอบ
2. ปวดร้าวบริเวณแขน คอ และไหล่
3. เหงื่อออกท่วมตัว กระสับกระส่าย
4. คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น
5. มักมีอาการเมื่อออกกำลังกายหนัก / ทำงานหนัก
การหมั่นสังเกตร่างกายของตัวเองเป็นประจำจะช่วยป้องกันหรือหากมีอาการผิดปกติดังกล่าวเราสามารถไปพบแพทย์เพื่อให้ทำการตรวจและวินิฉัยหากพบว่ามีความเสี่ยงว่าอาจจะเป็นโรค
เส้นเลือดหัวใจตีบ แพทย์จะได้หาทางรักษาได้ทันเวลาครับ