ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ การคมนาคม เราจึงต้องปรับตัวและนำมาใช้ให้ทันยุคทันสมัย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถูกสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวก ย่นระยะเวลา แรงงานให้กับมนุษย์ทั้งสิ้น
ใครจะคิดว่าการทำเกษตรกรรมจะสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ร่วมด้วยได้ โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนายประภัตรฯ เผยว่า “กระทรวงเกษตรฯ ได้เปิดโอกาสในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรในประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของเกษตรกรไทย เติมเต็มความรู้เกษตรกรให้ตามทันเทคโนโลยี และนำมาใช้ได้อย่างเข้าใจ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ดำเนินงานโดย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นแห่งที่ 2 ในภูมิภาคเอเชีย (แห่งแรกตั้งอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์) โดยศูนย์วิจัยนี้ จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนภาครัฐในการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น สถานีอากาศอัจฉริยะ โดรน Digital application เพื่อเพิ่มคุณภาพในการทำงานด้านเกษตร สามารถเติมองค์ความรู้ให้เกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรี” ซึ่งตรงตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่สนับสนุนให้เกษตรกรรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งดิน น้ำ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ รวมถึงการลดใช้แรงงานคนด้วย
อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่สำคัญของประเทศไทย โดยพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่กว่า 323 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมราว ๆ 149 ล้านไร่ แต่ยังคงประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูง หากมีต้นทุนที่ต่ำลงจะทำให้เกษตรกรนั้นมีรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งนายเกออร์ก ชมิดต์ (H.E.Mr. Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า “ ยินดีเป็นอย่างมากที่ทั้งสองประเทศจะได้ร่วมมือกัน เยอรมนีพร้อมให้การสนับสนุนแก่ประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร และขอบคุณกระทรวงเกษตรฯ ที่สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกษตร ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสและกระตุ้นให้เกิดการศึกษาวิจัยในอนาคต ให้สอดรับกับความต้องการของเกษตรกรไทยต่อไป”
บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เป็นบริษัทผู้นำในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร มุ่งเน้นด้านงานวิจัยและพัฒนา เพื่อช่วยเกษตรกรรับมือกับปัญหาศัตรูพืชและโรคพืช นำมาซึ่งการลดต้นทุน ความเสี่ยง เพิ่มศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โดยดำเนินธุรกิจภายใต้พันธกิจหลัก “วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตที่ดี (Science for Better Life)” ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา อาทิเช่น
-เทคโนโลยีการปลูกข้าว
-เทคโนโลยีข้าวโพด (New Corn Varieties)
-การจัดการวัชพืชแบบผสมผสาน
-โดรนเพื่อการเกษตร (Integrated Weed Management & Drone)
-นวัตกรรมการจัดการของเสีย (Phytobac technology)
นับเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะได้พัฒนาเกษตรกรรม ให้ทันยุคทันสมัยทันเทคโนโลยีและพัฒนาไปสู่การเป็นเกษตรกรรมที่ยั่งยืนต่อไป