นิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่พบได้บ่อย พบได้ประมาณ 5-10% ของประชากร พบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะคนอ้วน มีลูกหลายคนและอายุ40ปีขึ้นไป
ปัจจัยเสี่ยง • เพศหญิงพบได้มากกว่าเพศชาย ประมาณ2-3เท่า
• พบได้มากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น อายุที่พบบ่อยตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
• คนอ้วนจะเกิดนิ่วชนิดที่มี cholesterol เนื่องจากการบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง
• การได้ฮอร์โมน estrogen จากการรับประทานหรือตั้งครรภ์ทำให้ระดับ cholesterol ในน้ำดีสูง
• อื่นๆได้แก่ การได้ยาลดไขมันบางชนิด ทำให้ cholesterol ในน้ำดีสูงขึ้น ,โรคเลือดบางชนิด เช่น ธาลาสซีเมีย, ผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากมีระดับ triglyceride สูง ,การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายละลายไขมันมากไป, การดื่มสุรา แอลกอฮอล์
อาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้แก่ - ท้องอืด แน่นท้อง มีลมในท้อง อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) : โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ซึ่งอาการแบบนี้ อาจเกิดจากโรคระบบทางเดินอาหารอื่น เช่น โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคของลำไส้ใหญ่ ก็ได้
- ปวดเสียดท้อง (Biliary colic) : อาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ ซึ่งมักเป็นหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก แต่อาการอาจเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง แล้วค่อยๆดีขึ้น อาจร้าวไปสะบักขวา หรือที่หลัง.
ถ้าหากมีอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดีดังกล่าวแล้ว และไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยรวมทั้งไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายประการ
อาการที่เกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อน - ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน : จะมีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงขวามากขึ้น และมีการตรวจพบการกดเจ็บบริเวณนี้ บางครั้งอาจปวดร้าวไปที่สะบักขวา ร่วมกับมีไข้ และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย.
- นิ่วในท่อน้ำดี : จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง, ไข้สูง, หนาวสั่น, ปวดท้องใต้ชายโครงขวา.
- ตับอ่อนอักเสบ : จะมีอาการปวดท้องใต้ลิ้นปี่ร้าวไปหลัง ปวดมาก ท้องแข็งเกร็ง
- ลำไส้อุดตัน : นิ่วในถุงน้ำดี อาจหลุดเข้าไปในลำไส้ ถ้ามีขนาดใหญ่อาจเกิดการอุดตัน มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ไม่ถ่ายไม่ผายลม
การวินิจฉัย วินิจฉัยได้จาก การมีอาการดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับการตรวจ อัลตราซาวน์ของช่องท้อง ซึ่งนอกจากจะบอกว่า มีนิ่ว หรือไม่มีแล้ว ก็ยังสามารถบอกพยาธิสภาพของถุงน้ำดี, โรคแทรกซ้อน, หรือโรคอื่น ๆ ได้ด้วย
การรักษา - นิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่เนื่องจากการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีมีอันตรายน้อยมาก และนิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่มีอาการมีโอกาสเกิดอาการได้ถึง1-2%ต่อปี จึงควรแนะนำให้ผ่าตัดรักษาในกรณีต่อไปนี้
1. อายุน้อย เพราะมีโอกาสเกิดอาการในภายหลังมาก
2. เป็นเบาหวาน เพราะเมื่อมีการอักเสบติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง
3. มีภาวะการทำลายของเม็ดเลือด เช่นในโรคธาลัสซีเมีย เพราะจะมีนิ่วสะสมเพิ่มมากขึ้น
4. นิ่วก้อนใหญ่ เพราะมีโอกาสเกิดอาการและมีโรคแทรกซ้อนเกิดได้ง่ายขึ้น
5. ถุงน้ำดีผิดปกติ เช่น ผนังหนา หรือถุงมีขนาดหดเล็กจากการตรวจอัลตราซาวน์ เพราะมีโดกาสเกิดอาการได้ง่าย หรือพบหินปูนจับที่ผนังถุงน้ำดีเพราะต้องแยกจากมะเร็ง
ด้วยความปรารถนาดีจาก โรงพยาบาลสมิติเวช
http://www.samitivejhospitals.com/allhealth_article_detail.aspx?id=472&lid=th