พระเจ้ายอร์จที่ 6 และ พระราชินี พระองค์จริง
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มีหลายซีนแสดงให้เห็นว่าประชาชนอังกฤษยังผูกพันกับสถาบันกษัตริย์ค่อนข้างสูง แต่ซีนที่ทรงพลังที่สุดเห็นจะเป็นซีนสุดท้ายที่แสดงบทสรุปของเรื่องราวนี้
เพราะเอาเข้าจริงๆ เป็นเรื่องของคนคนหนึ่ง ที่รู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยบางอย่าง จนทำให้รู้สึกท้อถอยที่จะทำอะไร รวมทั้งพยายามปฎิเสธภาระหน้าที่ที่ตนเองจะต้องได้รับผิดชอบอยู่เสมอ แต่เมื่อถึงเวลา และรู้ว่าตนเองเป็นพึ่งที่หวัง และเป็นกำลังใจของคนอีกนับล้าน เขาก็ยอมต่อสู้กับอาการที่ตัวเขาก็เกือบจะยอมแพ้ไปแล้วไม่รู้จะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง
ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย Tom Hooper ผู้ซึ่งเคยกำกับภาพยนตร์เกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษที่ยอดเยี่ยมอีกเรื่องมาแล้วคือ The Queen (เรื่องนั้นของลูกสาวคราวนี้เรื่องของพ่อ) ภาพยนตร์ทำได้ดีครับ สมควรที่จะได้ทุกรางวัลเท่าที่ได้มา ทั้งลูกโลกทองคำและออสก้าร์ ส่วนภาคการแสดงอย่าง Colin Firth ก็แสดงเป็นพระเจ้ายอร์จที่ 6 อย่างสมบทบาท โดยเฉพาะการพูดติดอ่าง ไม่แปลกใจที่ได้ตุ๊กตาทอง ส่วนบท ไลโอเนล ก็ได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง เจฟฟี่ย์ รัช มาแสดง (จริงๆ รัช คือตัวเลือกแรกสำหรับบทพระเจ้ายอร์จที่ 6 แต่เขาชอบบทไลโอเนลมากกว่า และแนะนำให้ทีมสร้างเลือก ฟิธ มาแสดงแทน)
ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ เมื่อถึงคราววิกฤติจริงๆ ผมเชื่อค่อนข้างมากว่า เสียงที่ประชาชนต้องการได้ยินเพื่อปลอบประโลมใจนั้น ไม่ใช่เสียงของนักการเมืองคนไหน แต่เป็นพระสุรเสียงของพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น
หนังตอกย้ำความเชื่อของผมในซีนสุดท้าย ซึ่งอังกฤษต้องประกาศสงครามกับยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมัน ที่ตอนนั้นยึดยุโรปได้ค่อนทวีป กำลังจะตีฝรั่งเศสแตก ประชาชนอังกฤษอยู่ในภาวะขวัญเสียขนาดหนัก และเป็นภาระของพระเจ้ายอร์จที่ 6 ที่จะต้องทรงตรัสกับพสกนิกรทางวิทยุไปทั่วโลกเพื่อสร้างกำลังใจ
ในห้องกระจายเสียงนั้น มีเพียงพระองค์กับไลโอเนล แต่ด้านนอก ในพระราชวังที่ทั้งพระชายาและพระราชธิดา (ควีน Elizabeth ครั้งทรงพระเยาว์-เจ้าหญิงมากาเร็ต)/พระราชวงศ์/คณะรัฐมนตรี/ทูต/สส. และนอกพระราชวังที่ลานที่ประชาชนนับพันมารอฟังพระราชดำรัส
และนั้นเป็น The King's Speech ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติอังกฤษ พระองค์ตรัสอย่างเกือบจะหายขาด รวมทั้งเนื้อหาในนั้น
"ถ้าเป็นไปได้ ข้าพเจ้าอยากจะไปพบพวกท่านทุกคน ข้าพเจ้าอยากเข้าไปนั่งในบ้านท่านและพูดปลอบใจพวกท่าน แต่เมื่อมันไม่อาจทำได้ ข้าพเจ้าจึงขอพูดกับพวกท่านในวิทยุนี้ และขอให้พวกท่านของมีความสามัคคี มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ประเทศอังกฤษกำลังจะต่อสู้"
หนังย้ำซีนตรงนี้โดยแสดงให้เห็นถึงพสกนิการทั่วประเทศ คนทุกชนชั้นต่างรอฟังพระราชดำรัส ตั้งแต่พวกผู้ดีในคลับสโมสรหรูหรา/ผับบาร์เล็กๆชานเมือง/ร้านอาหาร/สนามกีฬา/ในบ้านเรือนแต่ละหลัง/บรรดาทหารที่เตรียมตัวออกรบ-เมื่อดูในแววตาแล้วทุกคนต่างมีความเชื่อมั่นเมื่อได้กำลังใจจากองค์เหนือหัว
ผมชอบนัยยะของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่บอกว่า การที่คนคนหนึ่ง ซึ่งต้องพยายามเอาชนะตัวเอง ในภาวะที่ต้องรับผิดชอบคนเป็นสิบๆ ล้านนั้น เมื่อมันประสบความสำเร็จ มันไม่เพียงแต่เป็นชัยชนะของเขาเท่านั้น แต่มันเสมือนชัยชนะของคนทั้งชาติ
การที่นักวิชาการหลายๆท่านออกมาพูดถึงสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษบ่อยๆในช่วงหลังนี้ ผมก็ไม่ทราบจะมีจุดหมายอะไรแน่แท้ แต่มีประโยคหนึ่งในหนังที่ พระเจ้ายอร์จ ที่ 6 ทรงตรัสกับ ไลโอเนล เมื่อทรงท้อพระทัยในการรักษาและไม่เข้าใจว่าราษฎรจะต้องการอะไรจากพระองค์
"ฉันมีอำนาจอะไรหรือ ฉันสั่งให้ลดภาษีได้ไหม สั่งให้ลดราคาสินค้าได้ไหม แล้วจะมีใครมาหวังอะไรจากฉัน"
ไลโอเนลเอาแต่ยิ้มและมองเข้าไปในพระเนตรของพระองค์เพราะทราบว่าจริงๆแล้วพระองค์รู้ว่าประชาชนต้องการอะไรจากสถาบันกษัตริย์
ครับ-ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ผมเชื่อค่อนข้างมากว่า เมื่อถึงคราววิกฤติจริงๆ เสียงที่ประชาชนต้องการได้ยินเพื่อปลอบประโลมใจนั้น ไม่ใช่เสียงของนักการเมืองคนไหนหรอก แต่เป็นพระสุรเสียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น
สิ่งที่อยู่เหนือกว่าอำนาจใดใดคือพระบารมี ที่นักการเมืองคนไหนก็ไม่อาจทัดเทียมได้เลย .......
[youtube=425,350OAm7gRXFiRo&feature [/youtube]
ที่มา :
http://www.oknation.net/blog/kakalot/2011/03/07/entry-2