ความบกพร่องต่อการถึงจุดสุดยอด (Female Orgasmic Disorder)
ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางเพศมาก่อน หรือผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาโดยไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย บางครั้งปัญหาการไม่สามารถถึงจุดสุดยอดหรือ orgasm เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ปัญหาความบกพร่องต่อการถึงจุดสุดยอด หรือ Female Orgasmic Disorder นั้น มักเกิดจากการไม่เคยมีประสบการณ์ทางเพศมาก่อน หรือเคยมีเพศสัมพันธ์ไม่ราบรื่นมาก่อนจนเกิดผลกระทบต่อการตอบสนองทางเพศในภายหลัง ปัญหานี้สามารถแก้ได้โดยการเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศให้มากขึ้นหลังจากที่สัมพันธภาพระหว่างคู่สมรสมีความมั่นคงราบรื่นดีแล้ว
จากการศึกษาพบว่าประมาณ 10% ของสตรีทั้งหมดจะไม่เคยถึงจุดสุดยอดเลย (ส่วนใหญ่ของสตรีกลุ่มนี้มักจะเคยสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองมาก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย) อย่างไรก็ตาม หากก่อนนี้คุณเคยมีปัญหาการถึงจุดสุดยอดมาบ้าง แต่ตอนนี้คุณไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้เลย คุณจะรู้สึกโกรธ, ขุ่นเคือง และอาจถึงกับเกรี้ยวกราดใส่สามี จนอาจทำให้เกิดปัญหาสัมพันธภาพระหว่างกันอย่างมากได้ บางครั้งการใช้ยาคลายเครียดบางอย่างก็อาจมีผลกระทบต่อการถึงจุดสุดยอดได้เช่นกัน
นายแพทย์ Ron Pies ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Tuft ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำการรักษาโดยหลายวิธีร่วมกัน ตั้งแต่การให้ความรู้ การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง และเทคนิคการเลือกท่าการมีเพศสัมพันธ์ภายใต้บรรยากาศที่สบายและน่ารื่นรมย์ รวมทั้งการสื่อสารทำความเข้าใจความต้องการกันระหว่างสามี-ภรรยา การรักษาปัญหาทางเพศ หรือ Sex therapy แบบนี้ โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือนขึ้นอยู่กับปัญหาของคนไข้ แต่ในบางคู่ก็อาจได้ผลดีโดยใช้เวลาน้อยกว่านี้
การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อช่องคลอดมากผิดปกติ (Vaginismus)
สตรีบางคนอาจรู้สึกปวดแปล๊บในช่องคลอดมากจนร้องไห้ออกมา จากนั้นอาการนี้อาจก่อปัญหาให้รู้สึกกังวลใจมากว่ากำลังมีความผิดปกติบางอย่าง บางคนคิดมากและรู้สึกกังวลอย่างมาก
ปัญหาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อช่องคลอดมากผิดปกติ หรือ Vaginismus นั้น เกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อในผนังช่องคลอดมีการหดเกร็งตัวอย่างมากเมื่อรู้สึกว่าจะมีการสอดใส่อะไรก็ตามเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะเพศชาย นิ้วมือหรือเครื่องถ่างช่องคลอดเวลาตรวจภายใน หรือแม้แต่ผ้าอนามัยแบบสอด ผลก็คือความยากลำบากและความเจ็บปวดจนไม่สามารถสอดอะไรเข้าไปได้เลย หากคุณสงสัยว่ามีปัญหานี้อยู่ ขอให้คุณและสามีเข้าใจว่าเป็นลักษณะของกลไกการป้องกันตัวเองโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เรื่องที่ทำโดยเจตนาหรือควบคุมได้เอง เพราะคุณเองก็ทราบดีว่ามันยังเกิดขึ้นแม้ว่าคุณไม่ต้องการให้เกิดก็ตาม
ในทางการแพทย์เชื่อว่าเกิดจากการเกร็งตัวอย่างแรงของกล้ามเนื้อรอบๆผนังช่องคลอด ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยควบคุมไม่ได้และอาจทำให้เจ็บปวดมากได้ อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้ขณะตรวจภายใน สาเหตุของปัญหานี้เชื่อว่าเกิดจากความรู้สึกลึกๆ ที่ซ่อนอยู่ในใจซึ่งทำให้ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ เช่น เคยถูกทำร้ายทางเพศมาก่อน ความเข้ากันไม่ได้กับคู่ร่วมเพศ มีสิ่งกระตุ้นให้เสียอารมณ์ตั้งแต่แรก เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ ความผิดปกติแต่กำเนิดบางประเภท หรือจากความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ก็ได้
การรักษา vaginismus ทำโดยการค่อยๆ ขยายช่องคลอด โดยคุณหมอจะสอนให้คุณใช้เครื่องขยายช่องคลอดซึ่งขนาดจะค่อยๆ โตขึ้นทีละน้อย คุณควรทำโดยไม่ฝืนและหยุดทันทีหากรู้สึกเจ็บ เป้าหมายคือการที่สามารถสอดเครื่องถ่างเข้าไปได้โดยไม่เจ็บขณะที่ความกว้างของช่องคลอดค่อยๆ เปิดขยายมากขึ้น การฝึกสมาธิและการผ่อนคลายจะช่วยเสริมผลการรักษาได้ดีทางหนึ่ง
และเช่นเดียวกับการรักษา FSD ที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ การให้คำปรึกษาแนะนำเป็นส่วนสำคัญมากต่อการรักษา เพราะจะช่วยให้สตรีผู้ทนทุกข์เข้าใจมากขึ้น คลายความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด และเรียนรู้ถึงปัจจัยต่างๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของ vaginismus ได้
เป้าหมายหลักของการรักษา vaginismus คือการเอาชนะความกลัวต่อการสอดใส่ และแก้ไขปฏิกิริยาเกร็งตัวเพื่อต่อต้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่รักษาหายได้เมื่อได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้ชำนาญ
ปัญหาความบกพร่องทางเพศในสตรี หรือ FSD นั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นอะไร หนทางแก้ไขให้ดีขึ้นนั้นมีอยู่เสมอ ขอเพียงคุณกล้าเปิดใจยอมรับความจริงและขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่าลืมว่าโลกที่สดใสยังเปิดรอคุณอยู่ ไม่มีประโยชน์ที่คุณจะทนทุกข์ทรมานอยู่คนเดียว
อาการปวดขณะร่วมเพศ (Dyspareunia) : คล้าย FSD แต่ไม่ใช่
Dyspareunia หมายถึงอาการเจ็บปวดในขณะที่กำลังร่วมเพศ ซึ่งไม่ถือว่าเป็น FSD แต่อาจเป็นอาการที่เกิดตามมาจาก FSD บางอย่าง เช่น vaginismus ได้
สาเหตุของ dyspareunia มักเกิดจากการที่อวัยวะเพศชายถูกดันเข้าไปในช่องคลอดที่ยังไม่มีการหล่อลื่นเพียงพออย่างรุนแรงเกินไป ดังนั้น คุณอาจมีอาการ dyspareunia ได้แม้ว่าคุณจะไม่มีปัญหา FSD ก็ตาม ความเข้าใจและความนุ่มนวลจึงเป็นหัวใจสำคัญที่มีผลอย่างมากต่อสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคุณและสามี ในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนซึ่งมักไม่มีการหล่อลื่นในช่องคลอดเพียงพอก็จะมีปัญหา dyspareunia ได้บ่อย การใช้สารช่วยหล่อลื่น เช่น K-Y jelly จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้
อย่างไรก็ตาม หากคุณมีอาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ลองสังเกตดูว่าอาการปวดเกิดเมื่อใด ขณะที่อวัยวะเพศชายเริ่มสอดเข้าในช่องคลอด หรือขณะที่สอดลึกเข้าไปในช่องคลอดแล้ว หรือขณะที่มีการกระแทกกระทั้น หรือขณะถึงจุดสุดยอด หรือเกิดในระยะอื่น
อาการ dyspareunia ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่รักษาได้ง่ายๆ เช่น ปากมดลูกอักเสบ, ริดสีดวงทวาร หรือการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งคุณหมอของคุณจะแนะนำการรักษาที่ถูกต้องให้คุณได้ แต่หากคุณละเลยไม่สนใจอาการ dyspareunia จนไม่ได้ไปปรึกษาหมอแล้ว ปัญหาก็อาจบานปลายมากขึ้นจนมีผลเสียต่อทั้งตัวคุณเองและสามีทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ตลอดจนถึงสัมพันธภาพระหว่างกันได้
เครดิต : ผู้หญิงนะคะ