ภูเรือ 
ไฮไลต์สุดยอดประจำทริป จะถูกห่อหุ้มด้วยความรื่นรมย์จากเหล่าป่าสนน้อยใหญ่ ทั้งสนสองใบ-สามใบ และดื่มด่ำทัศนียภาพอันสวยงามได้แบบ 360 องศา รวมถึงยังได้ทอดสายตาไปกับวิว
แม่น้ำเหืองและ
แม่น้ำโขง ซึ่งกั้นระหว่างพรมแดนไทย – ลาว อีกด้วย
ภูกระดึง 
“ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” ป้ายไม้สีน้ำตาลเข้ม พิมพ์ตัวอักษรสีเหลืองด้วยข้อความดังกล่าว เป็นจุดบังคับที่ใครได้หอบสังขารขึ้นมาถึงยอดภูแล้ว จำต้องถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกเพื่อให้สาแก่ใจกับความเหนื่อยล้าซึ่งได้สูญเสียไป ในการเดินทางแสนทรหดด้วยสองเท้า กับระยะทางกว่า 9 กิโลเมตร (แบ่งออกเป็นการเดินขึ้นเขาราว 5 กิโลเมตร และเดินทางราบอีกร่วม 4 กิโลเมตร) ที่มีทั้งความสูงชันและยากลำบากให้ประสบอยู่ตลอด ดังนั้นผู้ที่จะมาจุ๊กกรู @ “ภูกระดึง” ควรจะเตรียมร่างกายมาให้พร้อมเพรียง เฉพาะอย่างยิ่งหยูกยาสำคัญมากๆ มิเช่นนั้นอาจจะเกิดการทรุดเอากลางทางเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน
เชียงคาน 
หาก “ปาย” คือแชมป์ของอำเภอแห่งความชิลล์ “เชียงคาน” ก็คงจะเป็นผู้ท้าชิงอันดับหนึ่ง ที่กำลังสั่นคลอนตำแหน่งนัมเบอร์วันได้มากขึ้นทุกขณะ ด้วยเสน่ห์ของวิถีอันเนิบช้าและเต็มไปด้วยความเรียบง่าย ปลอดจากความวุ่นวายที่ชาวเมืองหลายคนเอือมระอา แถมยังอบอวลด้วยบรรยากาศแห่งศิลปะวัฒนธรรม และการใช้ชีวิตในแบบดั้งเดิม
พระธาตุศรีสองรัก 
ตามตำนานเล่าขานกันว่าพระธาตุแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างกรุง ศรีอยุธยา (สมัยพระมหาจักรพรรดิ) และกรุงศรีสัตนาคนหุต (นครเวียงจันทน์) โดย “พระธาตุศรีสองรัก” ถือได้ว่าเป็นศิลปกรรมที่ตก
แต่งแบบล้านช้าง โดยมีความสูงประมาณ 19.19 เมตร ฐานกว้างด้านละ 10.89 เมตร ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรง “บัวเหลี่ยม” คล้ายพระธาตุพนม พระธาตุหลวง (เวียงจันทน์) และพระธาตุอื่นๆ
ผีตาโขน 
Festival ชื่อก้องและโด่งดังไปทุกหัวระแหง จะถูกเนรมิตขึ้นใน
งาน “บุญหลวง” (จัดขึ้นราวๆ เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ของทุกปี) อันเป็นประเพณีที่จะได้พบการละเล่น “ผีตาโขน” กันอย่างรื่นเริง ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งพลิกปูมดูตำนานที่มาของผีตาโขน สลักเอาไว้ว่าเมื่อครั้งที่พระเจ้ากรุงสัญชัยกับพระนางผุสดี ไปเชิญเสด็จพระเวสสันดรกับพระนางมัทรีกลับเมืองนั้น เหล่าคนป่าหรือผีป่าที่เคยปรนนิบัติและเคารพรักพระเวสสันดร ก็ได้มาร่วมขบวนแห่แหนตามไปส่งด้วย ดังนั้นผีตาโขนจึงเปรียบเสมือนภาพจำลองของคนป่าหรือผีป่าเหล่านั้น กระทั่งมีการละเล่นสืบต่อกันเรื่อยมาจนปัจจุบัน
ไปเลย กินอะไร พักที่ไหน อ่านต่อตามลิงค์ด้านล่างค้าบ..
http://www.painaidii.com/diary/diary-detail/000049/lang/th/http://www.painaidii.com/diary/diary-detail/000050/lang/th/