ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เปิดเผยว่า สัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือมือถือในระบบ 1800 MHz ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับ บริษัททรูมูฟ จำกัด และ บริษัท ดีจิตอล โฟน จำกัด (ดีพีซี) กำลังสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 โดยเห็นด้วยที่ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ออกประกาศ กสทช.ที่ว่าด้วยมาตรการเยียวยาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคออกมารองรับ
“ไม่สามารถดำเนินการตามประกาศ กสทช.ที่ว่าด้วยมาตรการเยียวยาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้ จะนำไปสู่ปัญหาซิมดับ หรือไม่สามารถใช้งานได้อย่างแน่นอน” ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากสัมปทานเดิม ที่ทาง กสทช.ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือล้วงลูกสัญญาสัมปทานได้
อย่างไรก็ตามต่อมา กสทช.ได้เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งโดยปกติการเปลี่ยนผ่าน และเยียวยามี 2 รูปแบบ คือ แบบฉับพลัน ซึ่งจะทำได้ต้องมีการเปิดประมูลใบอนุญาตใหม่ไว้ แล้วกับแบบค่อยเป็นค่อยไปซึ่งต้องใช้เวลา 1-2 ปี ในการผ่องถ่ายเครื่องลูกข่ายเดิม (ทรูมูฟ-ดีพีซี) ไปยังเครือข่ายใหม่ที่สำคัญการจะบริหารโครงข่ายมือถือที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 17-18 ล้านเลขหมายนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย เพราะจะต้องมีการลงทุนด้านเครื่องมือ วางระบบบิลลิ่ง จัดทำค่าใช้จ่ายทางบัญชีใหม่ ต้องอาศัยเวลาในการดำเนินการ จึงหนีไม่พ้นการให้ผู้ประกอบการรายเก่า ที่ให้บริการอยู่แล้วให้บริการต่อเนื่องต่อไป เพราะน่าจะมีต้นทุนต่ำสุด
“กสทช.ไม่สามารถจะดำเนินการจัดประมูลคลื่นดังกล่าวในระหว่างที่ผู้ประกอบการรายเดิมยังให้บริการอยู่ ดังนั้นกสทช.จึงไม่มีทางเลือกอื่น จึงต้องเลือกแนวทางการเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไปต้องรอให้สัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง แล้วจึงจะดำเนินการได้ ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ กทค.และกสทช.เองก็ต้องยอมรับข้อวิพากษ์ต่างๆ ที่จะมีตามมา” ศ.ดร.ถวิล กล่าว
ที่มา : http://www.naewna.com/business/67773