เป็นประเด็นสุดร้อนเป็น Talk of the Town ของสังคมวงกว้างในเวลานี้ กับสัมปทานมือถือบนคลื่นความถี่ 1800 MHz ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กับบริษัททรูมูฟ จำกัด และบริษัทดิจิตอล โฟน จำกัด (ดีพีซี) ที่กำลังนับถอยหลังสิ้นสุดสัมปทานวันที่ 15 กันยายน 2556
แม้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ใน กสทช.จะทำคลอดมาตรการเยียวยา เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศกสทช.ว่าด้วยมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทานหรือสิ้นสุดสัญญา (มาตรการเยียวยา 1800 MHz) กำหนดให้ผู้ให้บริการรายเดิมให้บริการต่อเนื่องในช่วง “เปลี่ยนผ่าน”
แต่ก็ถูกนักวิชาการออกโรงถล่มเป็นมาตรการที่ส่อเอื้อประโยชน์เอกชนและหมิ่นเหม่ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญเพราะหนทางที่ถูกต้องนำคลื่น 1800 MHz ที่สามารถนำไปให้บริการระบบ 4 จีได้เลยนั้นมาเปิดประมูลใหม่เท่านั้น กสทช.ไม่มีอำนาจจะออกมาตรการเยียวยาใดๆ ทั้งสิ้น
กลายเป็นการปะทะทางแนวคิด 2 มุมมองที่มีลูกค้าผู้ใช้บริการ 17 ล้านเลขหมายเป็นตัวประกัน โดยเฉพาะ 2 มุมมอง 2 แนวคิดนักวิชาการอย่าง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ศ.ดร. ถวิล พึ่งมา อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ระบุว่าคลื่น 1800 MHz นี้หาก กสทช.จะนำไปเปิดประมูลเพื่อออกใบอนุญาตใหม่จะมีมูลค่าสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท ดังนั้นยิ่งเปิดประมูลล่าช้าไปเท่าใด รัฐบาลและประเทศชาติยิ่งสูญเสียโอกาส พร้อมกับระบุว่าการทำหน้าที่ของ กสทช.ต่อกรณีดังกล่าวบกพร่อง ทั้งที่รู้มาแต่แรกอยู่แล้วจะต้องเร่งดำเนินการนำคลื่น 1800 MHz ดังกล่าวไปเปิดประมูลเพื่อออกใบอนุญาตตามกฎหมาย
“การที่กสทช.อนุมัติประกาศกสทช.เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ให้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริหารโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ร่างเยียวยา 1800) ไม่ต่างกับการขยายเวลาสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปแม้กสทช.จะอ้างว่าเป็นการให้บริการช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่แท้ที่จริงคือการให้เอกชนได้สิทธิต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 1 ปี”
ขณะที่ ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากสัมปทานเดิมที่ กสทช. ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือล้วงลูกได้ การจะให้ กสทช.เตรียมการประมูลล่วงหน้าทั้งที่สัญญาสัมปทานยังไม่สิ้นสุดลงก็อาจถูกผู้ประกอบการฟ้องเอาได้ ดังนั้น กสทช. จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากประกาศมาตรการเยียวยาคุ้มครองผู้ใช้บริการในช่วงรอกระบวนการประมูลใบอนุญาตเท่านั้น
ส่วนกรณีที่บริษัท กสท.โทรคมนาคม จะรุกคืบขอให้บริการเองในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยอ้างมีความพร้อมในเรื่องโครงข่ายที่ได้รับมอบมาจากสัญญาสัมปทานนั้น ศ.ถวิล ระบุว่า เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้แน่ เพราะโครงข่ายที่ กสท.ได้รับมอบมาเหล่านี้จำเป็นต้องมีการลงทุนซอฟต์แวร์ วางระบบบิลลิ่งที่ต้องมีการลงทุนใหม่และต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ถึงจะให้บริการได้
“คำถามก็คือจะปล่อยให้เกิดสุญญากาศ รอเวลาให้ กสทช.เปิดประมูลเพื่อออกใบอนุญาตใหม่ที่ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กันหรืออย่างไร หากเป็นดังนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงจะกระทบกับประชาชนผู้ใช้บริการ 18 ล้านเลขหมายนี้เท่านั้น ประเทศเองก็เสียหาย เฉพาะค่าเสียโอกาสจากรายได้บริการก็มากกว่า 18,000 ล้านบาทต่อเดือนเข้าไปแล้วหากเฉลี่ยผู้ใช้บริการรายหนึ่ง มีการใช้จ่ายเฉลี่ยแค่ 1,000 บาท”
ทั้งหมดเป็นมุมมอง 2 ดอกเตอร์ต่อกรณีคลื่นสัมปทาน 1800 MHZ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายนนี้ ที่นัยว่าหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ กำลังเร่งแสวงหาทางออกเพื่อผ่าทางตันกันเร่งเร่งด่วน เพราะตัวประกัน 17-18 ล้านเลขหมายนั้นคงไม่ “อดทน” ยินยอมให้มือถือในมือบอดใบ้เป็นแน่!
ที่มา : http://goo.gl/LLRE6t