คำถามที่น่าสนใจคือ “เงิน” “ทุจริตการหาเสียง
เลือกตั้ง” เป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ขาด “ผลการเลือกตั้ง” ได้จริงหรือ?
สำนักข่าวอิศรา ได้ทำการรวบรวมข้อมูล สถิติ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 และบทวิเคราะห์ของนักวิชาการต่าง ๆ มานำเสนอ ดังนี้
จากสถิติการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ประกาศผลการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยจากทั้งหมด 40 พรรค พบว่า
พรรคเพื่อไทย (พท.) ส่งผู้สมัคร 124 ราย ค่าใช้จ่ายที่พรรคสามารถใช้ได้ 186,000,000 บาท แต่ใช้จริง 93,846,296.45 บาท
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่งผู้สมัคร 125 ราย ค่าใช้จ่ายที่พรรคสามารถใช้ได้ 187,500,000 บาท แต่ใช้จริง 165,420,868.94 บาท
โดยข้อมูลสถิติข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ปชป. ที่กล่าวไว้ในรายการ “เจาะข่าวตื้น” ตอนที่ 99 ว่า หลัง ๆ มานี้ ถ้าพูดกันตามตรงน่ะ เขาใช้เงินน้อย ผมไม่บอกว่าเราใช้เงินมากกว่านะ มันกลับหัวกลับหาง ผมบอกถ้าอย่างนั้นอย่ามาพูดว่าแพ้เพราะเงิน
“เลือกตั้งหลังสุดอาจจะเป็นเพราะเราใช้เงินมากกว่าเขาด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นอย่ามาพูดประเด็นนี้อีกต่อไป วันนี้จะมาดูว่าจะแก้ปัญหาของเราอย่างไร เพราะถ้าเรามัวแต่โทษคนอื่น คุณปรับตัวไม่ได้หรอก” นายอลงกรณ์ ระบุ
ทั้งนี้ มีคนหลายกลุ่มปรามาศว่าคนส่วนใหญ่ที่เลือก “พท.” มักไร้การศึกษา จริงหรือ ?
ใน
งานวิจัยผลการเลือกตั้งในปี 2554 ของ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่ในงานเสวนา “พลวัตองค์ความรู้และมายาคติว่าด้วยการเลือกตั้งและชนบทไทย” ระบุว่า
คนที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา เลือก พท. 55.2 เปอร์เซ็นต์ เลือก ปชป. 35.6 เปอร์เซ็นต์
คนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา – อาชีวะศึกษา เลือก พท. 54.5 เปอร์เซ็นต์ เลือก ปชป. 34.7 เปอร์เซ็นต์
คนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เลือก พท. 40.1 เปอร์เซ็นต์ เลือก ปชป. 46.5 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ คนที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี เลือก พท. 50.3 เปอร์เซ็นต์ เลือก ปชป. 32.3 เปอร์เซ็นต์
ส่วนในเรื่องการรับเงินซื้อเสียงนั้น ก็มีการกล่าวหากันว่า “คนเหนือ – อีสาน” ซื้อเสียงได้ง่ายที่สุด ซึ่งผลวิจัยดังกล่าว ระบุว่า เมื่อมีการรับเงินซื้อเสียง คนที่จะไปเลือกพรรคที่ซื้อเสียงให้นั้นมี
กรุงเทพมหานคร 2.1 เปอร์เซ็นต์
ภาคกลาง 12.2 เปอร์เซ็นต์
ภาคใต้ 19.3 เปอร์เซ็นต์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.6 เปอร์เซ็นต์
และภาคเหนือ 7 เปอร์เซ็นต์
เช่นเดียวกันกับงานวิจัย“การป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้ง” ของ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ พบว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ในส่วนการเลือกตั้งระดับชาติการใช้เงินเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลง
คะแนนเลือกตนเองนั้น ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการแพ้หรือชนะการเลือกตั้งอีกต่อไป
โดยงานวิจัยดังกล่าว ระบุว่า ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่แม้ไม่ได้รับเงินก็จะเลือกสูงถึงร้อยละ 48.62 ขณะที่ผู้ที่ยอมรับเงินจากผู้สมัคร แต่ไม่เลือกผู้สมัครรายนั้นมีถึง ร้อยละ 46.79 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผมการสัมมนากลุ่มย่อยของผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่พบว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกผู้สมัครเพราะเงิน
งานวิจัยดังกล่าว ระบุอีกว่า การให้เงินปัจจุบันไม่ใช่ความสัมพันธ์ในลักษณะการซื้อและขายเสียงอีกแล้ว เพราะการให้จะไม่มีการตรวจสอบควบคุมให้คนรับเงินต้องเลือกตนเอง แต่เป็นการให้ลักษณะให้เปล่าคล้ายเบี้ยเลี้ยงหรือสินน้ำใจ โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ได้รับเงินก็ไม่รู้สึกว่าถ้าได้รับแล้วไม่เลือกจะเป็นบาปหรือเป็นการไม่ซื่อสัตย์ โดยจำนวนเงินที่มีการจ่ายกันก็เพียง 300 – 500 บาท ไม่มากเหมือนสมัยก่อน
ที่มา:
สำนักข่าวอิศรา