10 เหตุผลที่หมากรุกเหนือ กว่า โกะ
สมกับเป็นยอดเกมสำหรับคนอัจฉริยะ ก็คือ
1. หมากรุกเป็นเกมที่มีความชัดเจนในตัวเอง ในเรื่องของความถูกต้อง และ แม่นยำ เช่นในหมากรุกสากล
การเปิดหมากตั้งแต่ก้าวแรก e4 หรือ d4 หรือ c4 ล้วนแล้วแต่นำไปสู่ เกมที่หลากหลายรสชาติ
และความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป เมื่อเล่นไปถึงกลางกระดานหรือปลายกระดาน ผู้ที่เล่นไม่พลาดหรือ
พลาดน้อยกว่า ก็จะเป็นผู้ชนะ เมื่อจบเกมการแข่งขัน
ผู้แพ้หรือผู้ชนะก็จะร่วมกันวิเคราะห์หมากเพื่อหาจุดบกพร่องแก้ไข สำหรับเกมต่อๆ ไป ลักษณะนี้ต่างจาก
เกมบางอย่าง เช่น โกะ เป็นเกมที่ขาดความชัดเจน 10 ตาแรกจะลงตรงไหนอย่างไร
ไม่มีเหตุผลที่อธิบายถึงความแตกต่างได้ เมื่อจบเกมแพ้ชนะ
ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจุดผกผันแพ้ชนะอยู่ที่ไหน
2. หมากรุกเป็นเกม แห่งยุทธศาสตร์ ของแท้ ถ้ามองอย่างเด็กๆ หัดเล่นก็อาจจะบอกว่า หมากรุก สอนให้กินกัน
ทำลายล้างคู่ต่อสู้ หรือจ้องจะฆ่าฟันกัน นั่นอาจจะถูกต้องแบบผิวเผินมาก
ผู้ที่จะชนะในเกมได้ต้องมีการวางแผน ทั้งระยะสั้น และ ระยะยาวได้อย่างเหมาะสม
กลอุบายที่นำมาใช้มีอย่างหลากหลาย มากกว่า เกมทุกอย่างรวมทั้ง โกะ ด้วย อย่างธรรมดา ก็เช่น การเซ่น หรือ
ลอยตัวให้กิน (Sacrifice) หรือ บางครั้ง หลอกให้คู่ต่อสู้กินเพื่อแลกกับทางหมากที่เหนือกว่า (Gambit)
หรือการเอาเปรียบในตำแหน่งกลางกระดานเช่น เบี้ยนอกใน (Center pawn majority)
การซ้อนเรือเพื่อยึดคลองเรือ (Doubling rook) การรับรอให้คู่ต่อสู้พลาดแล้วจึงเข้าทำ (Defensive tactic)
อื่นๆ อีกมากมาย ว่ากันว่า หมากรุกเป็นเกมที่มีตำรา หรือ หนังสือให้ศึกษามากที่สุดในโลก
จะเห็นได้ว่าเกมอื่นๆ ยุทธศาสตร์ก็จะพื้นๆ ไม่มีลูกเล่นที่หลากหลายเช่นหมากรุกแน่นอน
3. ความนิยมชมชอบ ปัจจุบัน สหพันธ์หมากรุกสากลโลก มีสมาชิก 161 ประเทศ
มีการจัดชิงแชมป์โลกอย่างเป็นทางการทุก 3 ปี และทุก 2 ปีสำหรับประเภททีม ในกีฬาในภูมิภาค
อาเซียนก็มีการจัดการแข่งขัน หมากรุกสากลใน Seagames แสดงถึงความเป็นสากลและการยอมรับของนานาชาติ
ต่างจากโกะที่มีจัดการแข่งขันอยู่ภายใน 3 ประเทศในโลกนี้คือ จีน ญี่ปุ่น และไทย
4. เนื่องจากความนิยมหมากรุกที่มีอย่างสูง ในยุโรป และอเมริกา ทำให้บริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ IBM
ทุ่มเงินหลายล้านเหรียญ เป็นเวลากว่า 10 ปี สร้างคอมพิวเตอร์ที่จะสามารถเอาชนะแชมป์โลกให้ได้ IBM
ได้มุ่งมั่นวิจัย โดยวิศวกรหลายคนในทีมงาน กว่า 10 ปีจึงประสบความสำเร็จเป็น Deep Blue อันลือลั่น
เมื่อสามารถเอาชนะ Kasparov ได้ในปี 1997 ความนิยมแพร่หลายนี้เองที่ทำให้มี
กลุ่มนักเขียนโปรแกรมนานาชาติรวมตัวกันเป็น International Computer Chess Association
ตั้งอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ คอยแลกเปลี่ยนให้ความรู้และมีวารสารสำหรับผู้สนใจ
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์ เคยได้ให้ทรรศนะไว้ว่าในทางเทคนิค
เกมหมากกระดานอื่นก็ไม่ยากที่จะทำให้คอมพิวเตอร์เป็นแชมป์โลกได้ ไม่ยากเท่ากับส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์
แต่ปัญหาคือใครจะมาลงทุนอย่างที่ IBM ทำ และมีผลตอบแทนทางธุรกิจที่สมเหตุสมผลหรือไม่
ดังเช่นที่เราเห็นในเกมโกะ ที่เล่นกันแต่ในประเทศจีน ญี่ปุ่น
และประเทศไทยซึ่งทั้งสามประเทศก็ไม่ใช่ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
คงยากที่จะหาเงินทุนวิจัยเหมือนอย่างหมากรุก
5. หมากรุกสอนให้คนเป็นคนสู้อย่างไม่สิ้นหวัง เกมอื่นเช่นโกะ
เมื่อยึดพื้นที่ครองได้มากกว่าจุดหนึ่งต้องเป็นผู้ชนะแน่นอน แต่ในหมากรุก มีเสน่ห์มากกว่านั้น
แม้ตัวคู่ต่อสู้จะเต็มกระดาน ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องชนะ เช่นการนับศักดิ์หมาก ศักดิ์กระดานในหมากรุกไทย
หรือการเซ่นให้เข้าตาอับ (Kamikaze attack) หรือ กฎ 50 move
อันนี้สอนให้คนรู้จักต่อสู้ในวิธีที่มีทรัพยากรอย่างจำกัด
นับเป็นชั้นเชิงอย่างสูงสุดยอดสำหรับยอดเกมหมากกระดาน
6. ความเป็นยอดเกมสำหรับคนอัจฉริยะ เมื่อ 4-5 ปีก่อน มีแชมป์โกะจากญี่ปุ่น ได้ให้ความสนใจหันมาเล่น
หมากรุก และมีโค้ชเป็น เซียนจากยุโรปช่วยสอนให้ เป็นข่าวที่ฮือฮามาก เพราะญี่ปุ่นคิดว่าจะต้องไปได้ไกล
ถึงแชมป์โลกแน่นอน แต่เมื่อฝึกได้ระยะหนึ่ง และได้แข่งขันจริง ก็สามารถพัฒนาได้แค่ระดับ Fide Master
เท่านั้นเอง ยังห่างไกลกับแชมป์โลกอีกมาก เนื่องจาก
หมากรุกเป็นเกมที่มียอดอัจฉริยะให้ความสนใจเล่นกันมาก
จึงทำให้มีผู้ที่เล่นไม่รุ่งหันไปเอาดีทางเกมประเภทที่อ่อน เบาสมองกว่า

7. หมากรุกมีความหลากหลาย ในเชิงปัญหาให้ขบคิด ไม่มีแบบแผนตายตัว โดยเฉพาะในหมากรุกไทย
ยกตัวอย่างในช่วงปลายกระดาน การไล่ โคน เม็ด หรือ ม้า เม็ด ผู้เล่นจะต้องประยุกต์ความรู้ประสบการณ์
เข้าด้วยกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแต่ละฝ่าย
8. เสน่ห์อีกอย่างของหมากรุก ที่ทำให้เกมหมากกระดานอื่นไม่อาจเทียบได้ ก็คือ การแก้ที หรือ
ในภาษาต่างประเทศ เรียกว่า Zugzwang ภาวะนี้ก็คือโดยปกติ ผู้เล่นจะผลัดกันเป็นฝ่ายเดิน แต่มีบางครั้ง
การที่ไม่เดินได้ จะดีกว่าเดิน ภาวะนี้เราเรียกทับศัพท์ว่า Zugzwang การบีบให้คู่ต่อสู้อยู่ในภาวะ
Zugzwang ก็เป็นเทคนิคชั้นสูงอีกอย่างหนึ่ง หมากฮอสก็เป็นอีกเกมที่ Zugzwang มีผลต่อเกมมาก
ส่วนเกมกระดานประเภทอื่นไม่อาจรู้จักเทคนิคชั้นเลิศระดับนี้ได้
9. หมากรุกสอนให้คนเล่น กินกันทำลายล้าง คำกล่าวนี้จริงหรือ ย้อนไปในปี 1978 การแข่งขันชิงแชมป์โลก
ระหว่าง Anatoly Karpov กับ Viktor Korchnoi มีอยู่เกมหนึ่งที่เป็นที่น่าสนใจมาก เมื่อถึงปลายกระดาน
Karpov เป็นต่อมี 1 บิชอป 1 เบี้ยริม ส่วน Korchnoi มี เบี้ยริม กับเบี้ยหน้าม้า Karpov มีโอกาสที่จะใช้
คิงกินเบี้ยของ Korchnoi แต่ว่าหาก Karpov กินเบี้ยสองตัวของ Korchnoi ทันทีหมด หมากจะเข้ารูปเสมอกัน
สิ่งที่ Karpov ทำกลับไม่ใช่อย่างนั้น Karpov พยายามบีบ ให้ Korchnoi
เดินเบี้ยหน้าม้ามาให้เบี้ยริมกินเพื่อเป็นการเปลี่ยนคลองเบี้ย จากเบี้ยริมเป็นเบี้ยหน้าม้า
แล้วเข้าสู่ปลายกระดานรูปชนะได้ ฉะนั้นที่กล่าวว่า หมากรุกสอนให้คน ก้าวร้าว จ้องจะกินทำลายล้าง
คงจะเป็นคำกล่าวอย่างตื้นเขินของคนไม่รู้จัก เกมอัจฉริยะอย่างแท้จริง สิ่งที่หมากรุกสอนก็คือ
สอนให้คนรู้จักใช้สติปัญญา ความรู้ในอดีต มาประมวลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ต่อสู้กันอย่างมีน้ำใจนักกีฬา
ผู้ที่เก่งกว่าก็จะเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะไป

10. หมากรุกสอนให้ผู้เล่น มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ ไม่สอนให้ระรานหมากกระดานประเภทอื่น
สอนให้รู้จักการป้องกันตัวเองพอหอมปากหอมคอ การตอบโต้บ้างในกรณี ที่ถูกรังแก การเผยแพร่หมากรุก
ก็เป็นในลักษณะการส่วนตัว เคารพกันเป็นคนๆ ก็เรียกเป็นครู อาจารย์ ตามวัฒนธรรมไทยๆ
ไม่เคยมีการสั่งให้เผยแพร่ ตั้งเป้าว่าจะต้องโจมตี หมากกระดานอื่นให้หมดไป อันนี้หมากรุกไม่เคยคิด
ไม่เคยทำ ทำไม่เป็น เพราะคนเล่นหมากรุกชั่วไม่พอนั่นเอง
ดาวน์โหลดและติดตามข่าวสารได้ที่ www.duaykan.com