หลังจากที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ออกมาเคลื่อนไหวกดดันหน่วยงานต่างๆทั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงการทำงานไม่ชอบในเรื่องการนำคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ได้หมดสัญญาสัมปทาน กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เมื่อวันที่ 30 ก.ย. โดยจะนำไปเปิดประมูลให้ผู้ประกอบการรายอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วคลื่นต้องถูกนำกลับคืนมาที่ทีโอทีตามสิทธิ์ที่ ทีโอที ได้รับมา
ขณะที่สหภาพฯทีโอทียังได้ยื่นหนังสือเพื่อจะขับไล่กรรมการบริษัทบางคนที่ไม่ต่อสู้ หรือ ฟ้องร้องศาลเพื่อให้ได้คลื่นมาแต่อย่างใด ทำให้ฝ่ายบริหารซึ่งเก็บตัวอยู่ระยะหนึ่งต้องออกมาชี้แจงถึงจุดยืนของ ฝ่ายบริหารที่เห็นสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสหภาพฯทีโอทีเช่นกัน
เปิดศึกด้านแรก เอไอเอสหมกเม็ดทรัพย์สิน
งานนี้ "มนต์ชัย หนูสง" ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ได้นัดหมายพนักงานทีโอทีเพื่อรับฟังจุดยืนดังกล่าวร่วมกัน โดยเขากล่าวว่า เมื่อหมดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินของคลื่น 900 MHz ที่เอไอเอสมีทั้งหมดรวมถึงที่สร้างใหม่เองด้วยซึ่งเป็นไป ตามสัญญา BTO (Build Transfer Operate) ต้องคืนให้ทีโอที ซึ่งปัจจุบันทรัพย์สินทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 19,000 ล้านบาท โดยทรัพย์สินดังกล่าวประกอบไปด้วย ชุมสายโทรศัพท์ สถานีฐาน และเสาโทรคมนาคมจำนวน13,198 แห่ง กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องที่มีประมาณ 7 แสนรายการว่าอยู่ครบหรือไม่ คาดว่าภายในไม่เกินเดือน ต.ค.นี้จะดำเนินการเสร็จ
แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ เสาโทรคมนาคม จำนวน13,198 แห่งนั้นเอไอเอสไม่ยอมส่งมอบให้ทีโอที และกลายเป็นข้อพิพาทอยู่ในอนุญาโตตุลาการ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา เป็น 10 ปีกว่าเรื่องจะจบ หรือไม่จบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากนี้ยังพบว่าเอไอเอสได้แบ่งคลื่น 900 ระบบ 2G ไปพัฒนาเป็นเทคโนโลยีเป็น 3G ซึ่งมีเสาโทรคมนาคมอยู่ 3,700 แห่งโดยทีโอทีไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน
ขณะเดียวกันก็ยังพบปัญหาอีกหลายจุด ได้แก่ มีการยกเลิกใช้สถานีฐานของทีโอทีโดยไม่แจ้งให้ทราบ การเช่าพื้นที่ควรเช่าในนามของทีโอที แต่เอไอเอสกลับไม่ทำทั้ง 100% ปัญหาการใช้สายอากาศที่มีการนำสายอากาศสำหรับคลื่น 900 MHz ลงจากเสาและเปลี่ยนมาใช้สายอากาศ 2100 MHz ซึ่งมีความสามารถในการรับทั้ง 2 คลื่นแทน ทำให้ทีโอทีไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสายอากาศควรจะเป็นทรัพย์สินของใคร ขณะที่อุปกรณ์จ่ายไฟให้กับสถานีฐานของทีโอทีก็หายกลับมาแทนที่ด้วยอุปกรณ์ที่สามารถจ่ายให้ได้ทั้ง 2 คลื่นเช่นเดียวกัน
เหล่านี้ล้วนสร้างความสับสนในการรับมอบงานทั้งสิ้น เพราะเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินต้องเป็นของทีโอที แต่เอไอเอส กลับทำแบบนี้ จึงไม่ทราบว่าเจตนาคืออะไร
เปิดศึกด้านที่สอง กสทช.ต้องแก้ไขข้อบกพร่อง
มนต์ชัย กล่าวว่า ทีโอที ไม่ยอมรับการประกาศตามมาตรการเยียวยาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือคลื่น 900 MHz ของกสทช.เพราะเป็นการเปิดช่องให้เอไอเอสเชิญชวนลูกค้า 2G ย้ายไปอยู่เครือข่าย 3G 2100 MHz ของตนเอง เนื่องจากมีข้อความระบุว่า ผู้ให้บริการต้องพร้อม ให้ความสะดวกในการย้ายเครือข่าย แล้วใครจะเป็นคนจ่ายค่าเช่า โครงข่ายให้ทีโอที
ดังนั้นทีโอทีจะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อใช้สิทธิในการปกป้องความถี่ในย่าน 900 MHz ของตนเอง ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ทีโอทีได้ส่งหนังสือไปยัง กสทช.เกี่ยวกับการตีความกฎหมายที่ต่างกันซึ่งทีโอทีเชื่อว่าในพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 มาตรา 48 (4) ระบุว่าการคืนคลื่นต้องคืนมาเพื่อจัดสรรใหม่ หรือปรับปรุงการใช้งานดัง นั้นจึงไม่ได้ระบุว่าต้องคืนให้ กสทช.นำไปให้คนอื่น