ให้ความรู้ ลูก-หลานแรงงานเพื่อนบ้าน ... ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ความรู้ ลูก-หลานแรงงานเพื่อนบ้าน
ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต
การผนึกพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน ระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้บุตรหลานของแรงงานต่างด้าวในไทยได้มีสิทธิได้รับการศึกษามากขึ้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะของเด็กต่างด้าว เพื่อเป็นสร้างโอกาสที่ดีในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และร่วมปกป้องเด็กจากการใช้แรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายอีกด้วย
อาจารย์วีระพล เหล็กดี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดเกาะ (สําลีราษฎร์อุปถัมภ์) จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า โรงเรียนวัดเกาะ เป็น 1 ในโรงเรียนที่มีลูกหลานแรงงานต่างด้าวเข้าเรียน ปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีเด็กนักเรียนทั้งหมด 52 คน เป็นเด็กเมียนมาอยู่ 27 คน อีก 25 คนเป็นเด็กไทย แม้ว่าโรงเรียนจะมีงบประมาณในการจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียมกัน โรงเรียนยังต้องการพัฒนาโรงเรียนอีกหลายด้าน อาทิ สนามเด็กเล่น และสาธารณูปโภคที่ชำรุดทรุดโทรม ด้วยงบประมาณที่จำกัด โรงเรียนจึงต้องเลือกทำในสิ่งที่สำคัญกับการเรียนรู้ของเด็กก่อนเป็นหลัก
มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เป็นองค์กรที่ช่วยเหลือด้านการศึกษาของเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวของโรงเรียนมานาน ได้เป็นตัวกลางช่วยเชื่อมโยงกับภาคเอกชนที่สามารถให้การสนับสนุนเพื่อเติมเต็มสิ่งที่โรงเรียนวัดเกาะขาดแคลน ล่าสุด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยนายสว่าง สุขศรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ จับมือกับผู้เข้าร่วมโครงการ “Business Leadership Program” สถาบันพัฒนาผู้นำ ให้การสนับสนุนการซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคและปรับปรุงภูมิทัศน์ของโรงเรียน สนับสนุนอุปกรณ์การเรียน และอุปกรณ์สนามเด็กเล่น ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้และวิธีการปลูกผักเพื่อนำเป็นอาหารกลางวันให้แก่เยาวชน ภายใต้โครงการ “ซี.พี.เติมฝัน ปันยิ้ม” เพื่อช่วยพัฒนาให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่คุณภาพของเยาวชนในทุกเชื้อชาติ และสัญชาติ
ด.ช.นาเมอู นักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 4 สัญชาติเมียนมา โรงเรียนวัดเกาะ เล่าว่า การได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนทำให้เข้าใจภาษาไทย และกล้าแสดงออกตอนนี้ผมสามารถฟัง พูด อ่าน เขียน ผมตั้งใจจะเรียนหนังสือให้สูงที่สุด เพื่อที่จะได้ออกมาทำงานดีๆ เหมือนเพื่อนคนไทย
นามูเอเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเด็กที่เป็นลูกหลานแรงงานต่างด้าวที่โชคดี มีโอกาสเข้าศึกษาในจังหวัดสมุทรสาคร และสะท้อนให้เห็นว่า หากเด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษาตามระบบการศึกษาก็จะมีส่วนช่วยให้เด็กมีโอกาสที่ดีทั้งในการทำงานและการยกระดับคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังมี เด็กต่างด้าวที่อยู่ในสมุทรสาครอีก 7-8 พันคนยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งช่วยให้บุตรหลานของแรงงานต่างด้าวมีความรู้ความสามารถได้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กต่างด้าวที่ด้อยโอกาส และเป็นการตัดตอนปัญหาการใช้แรงงานเด็กอีกทางหนึ่ง
เครดิต [บ้านเมือง online ]
http://www.banmuang.co.th/news/education/39518