ท่ามกลางที่มีบางคนออกหน้าออกตาต่อต้านการทำเกษตรในรูปแบบของ “เกษตรพันธสัญญา” หรือ “คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง” อันเกิดมาจากมีบางคนพยายามป้อนข้อมูลและยกตัวอย่างที่เกษตรกรประสบความล้มเหลว ที่เกิดจากคู่กรณีไม่ปฏิบัติเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์น้ำ สัตว์บก รวมถึงการปลูกพืชเศรษฐกิจบางชนิด ขณะเดียวกันหากมองอีกหนึ่งของผู้ที่ทำเกษตรในรูปแบบของคอนแทร็กฟาร์มมิ่งกับบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ และมีประสบการณ์อันยาวนาน จะพบว่ามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
“เสรี พีระณรงค์” เกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีหัวคิดทันสมัยและเป็นผู้บุกเบิกการเลี้ยงปลาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมริม
แม่น้ำ
แม่กลอง ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ก็อีกคนหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงปลา 60 กระชัง และนอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เพื่อนบ้านเลี้ยงด้วยกว่า 40 รายจำนวน 550 กระชั่ง มีผลผลิตส่วนนี้เดือนละ 100 ตัน ขายในราคากก.ละ 60-70 บาท สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจนกลายเป็นเถ้าแก่น้อยไปแล้ว

ในเขตพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ถือเป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรยึดอาชีพเลี้ยงปลามากที่สุดอีกจังหวัดหนึ่ง เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำเป็นปัจจัยสนับสนุน แม้ปัจจุบันนี้ในหลายพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้งก็ตาม แต่พื้นที่ ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง โชคดีกว่าพื้นที่อื่นเนื่องเพราะมีลำน้ำที่ใต้เขื่อนทั้งที่เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ หรือเขาแหลม ทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงปลาตลอดทั้งปี
จากการสำรวจของทีมท่องโลกเกษตร พบว่าการเลี้ยงปลาในลำน้ำใน จ.กาญจนบุรีนั้น มีการพัฒนาไปมาก ทั้งเรื่องวิธีการเลี้ยงและการจัดการที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน โดย เสรี ถือเป็นผู้บุกเบิกการเลี้ยงปลาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ริมแม่น้ำแม่กลอง ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง โดยเสรี ใช้พื้นที่ริมลำน้ำแม่กลองเป็นที่เลี้ยงปลานิล
ปลาทับทิม และปลากะพง ในกระชัง

จากนั้นนำนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบ “โปรไบโอติก” มาปรับใช้ในการเลี้ยง โดยได้รับองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่เป็นเกษตรกรรายแรกในเขต จ.กาญจนบุรี ที่นำระบบนี้มาใช้ตั้งแต่ปี 2555 จนกลายเป็นผู้ผลิตปลาเนื้อคุณภาพที่สามารถส่งปลาเป็นเข้าตลาดสดตั้งแต่เขตพื้นที่ จ.ราชบุรี จนถึงกรุงเทพฯ และยังรับผลิตปลาเพื่อส่งเข้าห้างโมเดิร์นเทรด รวมถึงส่งออกต่างประเทศด้วย
เสรี บอกเล่าที่มาก่อนตัดสินใจเลี้ยงปลาด้วยระบบโปรไบโอติกมาใช้ว่าเพราะต้องการให้อาชีพเลี้ยงปลาที่ทำอยู่มีความยั่งยืน ด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ก่อผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ตลอดลำน้ำ เนื่องจากระบบดังกล่าวอาศัยหลักการ “ป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา” ด้วยการจัดการภายในบ่อเลี้ยงให้ดี เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียและโปรโตซัวที่จะกระทบต่อสุขภาพสัตว์น้ำ ควบคู่กับการใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสัตว์น้ำในการเลี้ยง โดยจุลินทรีย์จะไปช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ที่เป็นโทษต่อปลาให้ลดลง และช่วยให้เกิดความสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารของปลา คือไปช่วยลดจุลินทรีย์ที่ไม่ดีและเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดี ปลาจึงแข็งแรงและมีภูมิต้านทานป้องกันตัวเองได้ และมีอัตราการเจริญเติบโตดีตามไปด้วย
นับเป็นการเลี้ยงปลาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาที่จะช่วยสร้างทั้งอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภคและยังเป็นการสร้างอาชีพยั่งยืนด้วยแนวทางการอนุรักษ์แหล่งน้ำไปพร้อมๆ กันอีกด้วย
เครดิต http://www.komchadluek.net/detail/20160515/227605.html (คมชัดลึก)