การจะขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และก้าวไปข้างหน้าได้นั้น ตัวแปรสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้น "บุคลากร" ผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาให้องค์กรเติบโตไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ผลเช่นนี้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ "ซีพีเอฟ" จึงร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) จึงก่อตั้งคณะอุตสาหกรรมเกษตรขึ้นเมื่อปี 2557 เพื่อผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ด้านธุรกิจเกษตรที่มีคุณภาพ และมีประสบการณ์พร้อมปฏิบัติหน้าที่จริงทันทีหลังเรียนจบการศึกษา
เบื้องต้น "อดิเรก ศรีประทักษ์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟกล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรมาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับ PIM ในการจัดตั้งคณะอุตสาหกรรมเกษตร โดยมีสาขาวิชาแรกคือ สาขาการจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม ที่เปิดให้มีการเรียนการสอนในปี 2558 เป็นปีการศึกษาแรก และสาขาวิชาจัดการเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร เปิดการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกในปี 2559
"ทั้งนั้นเพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ และทักษะที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ คณะอุตสาหกรรมเกษตรจึงจัดให้มีการเรียนการสอนแบบ Work-based Education โดยมีอาจารย์ประจำคณะจำนวน 12 ท่าน และผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นมืออาชีพจากซีพีเอฟอีก 7 ท่าน ที่จะมาร่วมให้ความรู้และประสบการณ์จากการทำงานในพื้นที่จริงแก่เยาวชน"
"พร้อมกันนี้ซีพีเอฟยังมอบทุนการศึกษาตลอด4ปีการศึกษา เพื่อสร้างเยาวชนไทยให้มีความรู้ด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติ และเตรียมความพร้อมเป็นบุคลากรรุ่นใหม่ร่วมสร้างการเติบโตแก่ซีพีเอฟในอนาคต โดยปีการศึกษา 2558 มีนักศึกษารับทุนการศึกษาจำนวน 49 ทุน และปีการศึกษา 2559 จำนวน 70 ทุน"
ที่ผ่านมา "ซีพีเอฟ" และ "PIM" ขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีภาควิชาเกี่ยวข้องทั่วโลก อาทิ มหาวิทยาลัยอาร์คันซอ มหาวิทยาลัยไอโอวา สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัย Wageningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัย Massey ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อให้นักศึกษาในคณะมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นสากล ตอบโจทย์ความต้องการของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และร่วมมือกับพันธมิตรภาคธุรกิจเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษามีประสบการณ์ที่กว้างขวาง และหลากหลายอย่างมีคุณภาพ และเติบโตเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง
ขณะที่ "ธนวัฒน์ ธนูมาส (โจ้)" นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีฟาร์มกล่าวว่า ผมเรียนรู้ตรงจากสัตวบาล เรียนรู้ปัญหา และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างมืออาชีพ ทำให้เป็นคนมีความรับผิดชอบ และคิดวางแผนอย่างเป็นระบบ
"อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ PIM มอบให้คือทุนการศึกษา ที่จะมอบให้ตลอดการศึกษา 4 ปี หากได้รับเกรดเฉลี่ยตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยการศึกษาปีที่ 1 สามารถทำเกรดเฉลี่ยได้ 3.77 และเมื่อเรียนจบแล้วก็ใฝ่ฝันอยากร่วมงานกับซีพีเอฟที่ จ.เชียงราย เพื่อที่จะได้กลับไปอยู่กับครอบครัว"
ส่วน "พิชชาภา จึงเจริญ (มาย)" นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จาก จ.นครสวรรค์ ผู้ที่ได้รับเกียรติบัตรนักศึกษาเรียนดี ประจำปีการศึกษา 2558 จากผลการเรียน 3.9 เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา รู้สึกประทับใจกับการเรียนการสอนที่นี่มาก เพราะสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมาทั้งหมดนำไปประยุกต์ใช้ฝึกงานในสถานที่จริงได้ 100%
"จากการลงพื้นที่ไปฝึกงานที่ฟาร์มไก่ (ฟาร์มท่าคล้อ จ.สระบุรี) ตอนฝึกก็ได้ทำงานเสมือนเป็นพนักงานจริง ซึ่งก็สอดคล้อดกับแนวทางของคณะ คือ จบแล้วพร้อมทำงานได้ทันที ตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งของคณะที่น่าสนใจทีเดียว"
ที่สำคัญคณะอุตสาหกรรมเกษตร ยังมีแผนเตรียมพัฒนาหลักสูตรให้มีความเป็นสากลมากขึ้น และมีความสมบูรณ์มากที่สุด เพื่อเตรียมไปสู่การเปิดหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษในปีการศึกษา 2561 พร้อมขยายโอกาสให้เยาวชนจาก 14 ประเทศที่ซีพีเอฟเข้าไปลงทุน เช่น จีน, อินเดีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, บังกลาเทศ และปากีสถาน ได้เข้าศึกษาต่อที่คณะ เพื่อให้เยาวชนได้กลับไปร่วมงานกับซีพีเอฟในประเทศตนเองต่อไป
ที่มา http://www.prachachat.net