วันที่ 6 ก.ค. ระหว่างเวลา 09.00 - 12.00 น. คณะศึกษาหลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ (วพม.) รุ่นที่ 4 สถาบันวิทยาการพลังงาน เตรียมจัดเสวนาด้านวิชาการในหัวข้อ "หลุมดำ...พลังงานไทย"
เนื้อหาในเวทีเสวนา
นายคุรุจิต นาครทรรพ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “หลุมดำ...พลังงานไทย” ซึ่งจัดโดยคณะนักศึกษาหลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 (วพม.4) เมื่อวันที่ 6ก.ค.2560 ว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้านพลังงานในจุดที่ยังดำเนินการไม่สำเร็จ โดยเฉพาะการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เพราะที่ผ่านมาเกิดความล่าช้ามาถึง 5 ปี หลังจากต้องหยุดชะงักการเปิดสัมปทานปิโตรเบียมรอบ 21ออกไป โดยถึงแม้โอกาสในการพบปิโตรเลียมรอบใหม่จะน้อยลงแต่ก็ควรต้องทำเพื่อชี้ให้นักลงทุนเห็นว่าประเทศไทยยังคงมีโอกาสและศักยภาพด้านปิโตรเลียมอยู่ หากมีการค้นพบ ก็จะผลิตขึ้นมารองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น และทดแทนการนำเข้าได้
ส่วนการประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในแหล่งเอราวัณและบงกชนั้น เห็นว่าหากได้ผู้รับสัมปทานรายเดิมมาดำเนินการต่อเนื่องก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะมีประสบการณ์ในแหล่งเดิมสามารถผลิตต่อเนื่องได้ทันที แต่ผู้เข้าร่วมประมูลต้องยอมรับกติกา และต้องมั่นใจว่าถ้าประมูลได้แล้วจะสามารถผลิตได้จริง ไม่ใช่เอาไปขายต่อ
พร้อมกันนี้ส่วนตัวอยากเชียร์ให้รัฐบาลชุดปัจจุบันเร่งเจรจาการก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เนื่องจากที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมานานจึงไม่มีโอกาสเจรจาการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าว หากมีการเจรจาระหว่างกันจะช่วยให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานในประเทศได้มากขึ้น
รวมทั้งไทยต้องปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ. 2558-2579 หรือ PDP 2015 เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้มากขึ้นจาก 20-25% ในแผนPDP 2015 เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านพลังงานแต่ต้องคำนึงถึงความสมดุลด้านพลังงานโดยรวมด้วย ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศก็ควรกระจายไปในหลายประเทศ เช่น เมียนมา กัมพูชา นอกเหนือจากการซื้อสปป.ลาวเพียงอย่างเดียว
ส่วนการพิจารณาตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ(NOC)นั้นมองว่า เหมือนการรวบอำนาจทั้งฝ่ายกำกับกิจการพลังงานและฝ่ายปฏิบัติการไว้ร่วมกัน ถือเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะปัจจุบันไทยมีบริษัท ปตท.ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยเพื่อไปแข่งขันด้านพลังงานกับต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีบางประเทศตั้ง NOC ขึ้นมาแล้วเกิดปัญหาคอร์รัปชั่น เพราะไม่มีการถ่วงดุลอำนาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศก็มีให้เห็นแล้ว
“หลุมดำ ในทางวิศวะที่เรียนมา คือสิ่งที่เราปราถนา เพราะจะแสดงให้เห็นว่าพบแหล่งปิโตรเลียม แต่หลุมดำในที่นี้อาจหมายถึงอุปสรรรค ซึ่งผมมองว่า หลุมดำก็คือความไม่รู้ หรือ อวิชา ซึ่งหากไม่รู้และนำข้อมูลไปบิดเบือนจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงพลังงาน”นายคุรุจิต กล่าว
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า
ภาครัฐควรเร่งรัดการเปิดประมูลสัมปทานรอบ 21 เพราะหากล่าช้าจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ซึ่งมีต้นทุนราคาสูงกว่าก๊าซในอ่าวไทย โดยปัจจุบันไทยต้องนำเข้าพลังงานถึง 60% และอาจเพิ่มเป็น 70-80% ในอนาคต หากมีการจัดการประมูลล่าช้า
ส่วนแผน PDP 2015 ของประเทศก็ควรปรับปรุงใหม่ โดยเพิ่มพลังงานทดแทนให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนลดลงมาก โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์และพลังงานลมที่ในอนาคตต้นทุนการผลิตสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงก๊าซฯและถ่านหินได้ และมองว่าสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนควรเพิ่มจาก 20% (ไม่รวมพลังงานน้ำขนาดใหญ่)เป็น 40% และต้องลดสัดส่วนก๊าซฯและถ่านหินลง
นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองกองแผนงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.)กล่าวว่า กรมฯอยู่ระหว่างเร่งกฎกระทรวงเพื่อรองรับการเปิดระบบ PSC และระบบจ้างผลิต(SC) จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อบังคับใช้ต่อไป โดยในพรบ.ปิโตรเลียมได้เพิ่มระบบPSCและSCเข้ามา จากเดิมมีเพียงระบบสัมปทานเท่านั้น
สำหรับแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ได้แก่แหล่งเอราวัณและบงกช มีกำลังการผลิตรวม 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็น 70% ของกำลังการผลิตก๊าซในประเทศ หากการเปิดประมูลชะลอออกไปอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตแหล่งดังกล่าว ซึ่งในปี 2561-2562 คาดว่าจะยังคงรักษาระดับการผลิตได้ แต่หลังปี 2563 คาดว่ากำลังการผลิตจะเริ่มลดลง หากมีความชัดเจนผู้ชนะสัมปทาน คาดว่าในปี 2565 กำลังการผลิตจะเริ่มกลับมา
โดยปริมาณก๊าซฯอ่าวไทยที่ลดลงจะถูกทดแทนด้วยการนำเข้าก๊าซLNGเข้ามาเสริมในระบบ ปัจจุบันมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลังรับLNGเพื่อรองรับการนำเข้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ซึ่งต้องการใช้พลังงานที่ต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ต้นทุนราคามีความเหมาะสม ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมมีความตื่นตัวเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น มีการปรับปรุงเครื่องจักรที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเงินมาจากกองทุนอนุรักษ์ฯ ช่วยให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.มองถึงความเสี่ยงด้านไฟฟ้าในอนาคต มาจาก 1.ยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ที่จะเข้ามาเร็วกว่าแผน เนื่องจากความได้เปรียบด้านชิ้นส่วนยานยนต์ 2.รถไฟความเร็วสูง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตเพิ่มขึ้น จึงมีความน่าเป็นห่วงการใช้ไฟฟ้าใน 3-5 ปีข้างหน้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งดูว่าสำรองไฟฟ้าที่ปัจจุบันมี 20-30% สามารถพึ่งพาได้จริงหรือไม่