ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัว คือ ภาวะที่เราไม่สามารถกลั้นปัสสาวะไว้ได้เมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ จำเป็นต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่างเพื่อที่เข้าห้องน้ำ หากหาไม่ทันก็ปัสสาวะรดกางเกงทำให้คุณขาดความมั่นใจบ้าง หรืออับอายเสียบุคลิกภาพ ซึ่งโรคนี้มักเกิดขึ้นในผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยอาจมีอาการร่วมอื่นๆ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยขึ้นมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน ต้องลุกมาปัสสาวะหลังนอนหลับ บางครั้งมีปัสสาวะเล็ดราดร่วมด้วย โดยไม่สามารถตรวจพบพยาธิสภาพอื่นๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น การติดเชื้อ มะเร็ง กระเพาะปัสสาวะอักเสบหลังการฉายแสง นิ่ว เป็นต้น
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือเรียกง่ายๆ ว่า “โอเอบี” สาเหตุของอาการนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากระบบประสาทที่บริเวณกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวบ่อยและไวกว่ากำหนด โดยที่ยังมีปริมาณปัสสาวะไม่มากพอที่จะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะ สาเหตุอีกส่วนหนึ่ง คือพบร่วมกับภาวะการอักเสบ ติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะหมดประจำเดือนและโรคทางระบบประสาทบางชนิด
วิธีการป้องกันภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัว
1. หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่ส่งผลเสียต่อกระเพาะปัสสาวะ เช่น เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของ คาเฟอีน แอลกอฮอล์ ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว หรือมีรสจัดต่างๆ
2. งดสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่มีผลต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ และบุหรี่ทำให้มีอาการไอ ซึ่งมีผลทำให้เกิดปัสสาวะเล็ดราดขณะไอได้
3. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อให้น้ำปัสสาวะลดความเข้มข้นลง ทำให้ไม่เกิดการระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะ
วิธีการรักษา
การรักษากลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินมีหลายวิธี ซึ่งควรเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนการชีวิตของคุณก่อน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการต่างๆลงได้ อย่างการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชา โคล่า จะทำให้อาการต่างๆ แย่ลง ฉะนั้น การลดเครื่องดื่มเหล่านี้ลงอาจช่วยได้ เครื่องดื่มที่มีฟองซ่าอย่างโซดา น้ำผลไม้ และแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดกลุ่มอาการนี้เช่นกัน คุณควรพิจารณาจาก "การขับถ่ายปัสสาวะ" ว่าเครื่องดื่มใดบ้างที่ทำให้อาการของคุณแย่ลง แล้วลองเปลี่ยนไปดื่มน้ำ ชาสมุนไพร และเครื่องดื่มที่สกัดคาเฟอีนออกไปแล้วแทน คุณควรดื่มน้ำประมาณวันละ 1.5 ถึง 2 ลิตร หรือ ประมาณครึ่งแกลลอน