PwC และ World Bank Group ประกาศเปิดตัวรายงานวิจัยประจำปีในหัวข้อ Paying Taxes 2020 ซึ่งได้ศึกษาการบริหารงานภาษีอากรทั่วโลก รายงานดังกล่าวพบว่า หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกได้งัดใช้พลังของเทคโนโลยี เพื่อทำให้การจ่ายภาษีธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องง่ายขึ้น
รายงานดังกล่าวมีขึ้นเป็นฉบับที่ 14 แล้ว โดยฉบับล่าสุดนี้ชูให้เห็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ฝ่ายบริหารงานภาษีมอบให้แก่ผู้ชำระภาษีหากใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ โดยทั้งในบราซิลและเวียดนาม ระยะเวลาที่จำเป็นในการปฏิบัติตามข้อผูกมัดด้านภาษีปรับตัวลดลง 23% ในปี 2561 เมื่อเทียบกับปี 2560 ส่วนที่ประเทศโกตดิวัวร์ สาธารณรัฐคีร์กีซ และอิสราเอลนั้น ตัวเลขการชำระภาษีได้ปรับตัวลงอย่างมาก
ในภาพรวมแล้ว ภาระในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านภาษีธุรกิจเฉลี่ยทั่วโลกยังคงค่อนข้างทรงตัว เมื่อดูจากเกณฑ์วัดหลัก 4 ประการที่ใช้ประเมินความสะดวกสบายในการจ่ายภาษีสำหรับธุรกิจต่าง ๆ เกณฑ์วัดเหล่านี้ประกอบด้วยเวลาในการปฏิบัติตาม (234 ชั่วโมง) จำนวนการชำระ (23.1) อัตราภาษีและภาษีพิเศษ (40.5%) และดัชนีวัดกระบวนการหลังยื่นภาษี (60.9 จาก 100)
สำหรับอัตราภาษีและภาษีพิเศษนั้นค่อนข้างทรงตัวทั่วโลก แต่ก็มีบางประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอยู่บ้าง โดยซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะทั้งสองประเทศต้องการขยายฐานภาษีและลดการพึ่งพารายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนประเทศกานาได้ทยอยย้ายจากการใช้โครงสร้าง VAT ไปเป็นภาษีขายในขั้นต่าง ๆ นอกจากนี้ แกมเบีย สหรัฐอเมริกา จีน และโมร็อกโก ยังได้มีการลดภาษีที่คิดจากผลกำไรของบริษัทด้วย
นอกจากนี้ การเพิ่มการเข้าถึงช่องทางขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับกระบวนการหลังยื่นภาษีในอาร์เมเนียและอียิปต์
นับตั้งแต่ปี 2555 ระยะเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านภาษีโดยเฉลี่ยนั้นปรับตัวลดลง 27 ชั่วโมง ส่วนจำนวนครั้งการชำระก็ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 4.4 ครั้ง โดยเป็นผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ขณะที่อัตราภาษีและภาษีพิเศษขยับลงแตะ 40.5% จากระดับ 41.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ส่วนดัชนีวัดกระบวนการหลังยื่นภาษี ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2557 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 60.9 ในปี 2561 จากระดับ 58.9 เมื่อ 5 ปีก่อนหน้า โดยการปรับตัวขึ้นที่ไม่มากนักนี้ได้ซ่อนความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในหลาย ๆ ประเทศ ที่โดดเด่นที่สุดคือ บริษัทต่าง ๆ ขอคืนภาษี VAT ได้แล้วในทำนองเดียวกับกรณีศึกษาในอาร์เมเนียและอียิปต์ ขณะที่ตุรกีได้ยกเว้นให้การซื้อหลักทรัพย์ทุนไม่ต้องเสียภาษี VAT นอกจากนี้ กระบวนการขอคืนภาษี VAT ยังมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอิสราเอลและโกตดิวัวร์ ส่วนการแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลในเอลซัลวาดอร์ ฮังการี ไทย และตูนิเซีย นั้นได้มีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพขึ้น
เทคโนโลยีใหม่ ๆ เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารงานภาษีอากรสามารถปรับปรุงกระบวนการชำระภาษีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสิ่งเหล่านี้มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ฝ่ายบริหารงานภาษีจึงจำเป็นต้องติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอยู่เสมอ และงัดใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งหน่วยงานและผู้ชำระภาษี ขณะที่ธุรกิจต่าง ๆ ควรผนวกรวมเทคโนโลยีภาษีใหม่ ๆ เข้ากับการดำเนินงานของตน เพื่อตอบรับกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากฝ่ายบริหารงานภาษีในเรื่องข้อมูล
Rita Ramalho ผู้จัดการอาวุโสของ Global Indicators Group ในสังกัด World Bank กล่าวว่า "สำหรับรัฐบาลทุกประเทศแล้ว การบริหารงานภาษีที่มีประสิทธิภาพคือสิ่งสำคัญ ประสิทธิภาพในการทำงานของฝ่ายบริหารภาษีนั้นมีอิทธิพลต่อทัศนคติของรัฐบาล หากการชำระภาษีเป็นเรื่องง่าย ตรงไปตรงมา และยุติธรรมแล้ว สิ่งนี้จะสะท้อนผลลัพธ์ที่ดี และช่วยส่งเสริมแรงสนับสนุนการเก็บรายได้ที่มีส่วนสำคัญในการให้บริการที่จำเป็นเช่นนี้"
Andrew Packman หัวหน้าฝ่าย Tax Transparency and Total Tax Contribution ของ PwC กล่าวว่า "การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและฝ่ายดูแลภาษีจำเป็นต้องเดินหน้าลงทุนต่อไปในการปรับปรุงระบบบริหารภาษีให้ทันสมัย อย่างไรก็ดี รัฐบาลทุกประเทศก็จำเป็นต้องเข้าใจความหมายของฉันทามติใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากการทำงานของกลุ่ม OECD และ G20 ในเรื่องระบบภาษีเศรษฐกิจดิจิทัล"
หมายเหตุ
Paying Taxes 2020 ศึกษาเปรียบเทียบระบบการจัดเก็บภาษีธุรกิจใน 190 ประเทศ รายงานฉบับนี้ช่วยให้รัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ เข้าใจว่า ระบบภาษีของตนสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลกหรือไม่ และช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้จากความเคลื่อนไหวของผู้อื่น รายงานนี้จำลองระบบภาษีธุรกิจในแต่ละประเทศโดยใช้บริษัทในประเทศขนาดกลางเป็นกรณีศึกษา
รับชมรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.pwc.com/payingtaxes