จีนปล่อยจรวดลองมาร์ช-5 ขึ้นไปสู่อวกาศ เพื่อปฏิบัติภารกิจ สำรวจดาวอังคาร ครั้งแรกของประเทศในวันพฤหัสบดีที่ 23 ก.ค. มาหาคำตอบที่ว่า “เหตุใดมนุษย์ถึงได้ลุ่มหลงกับดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้นัก?”
จรวดลองมาร์ช-5 วาย4 ซึ่งเป็นจรวดขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดของจีน นำพายาน สำรวจดาวอังคาร ขึ้นไปสู่อวกาศ โดยมีเป้าหมายในการโคจร ลงจอด และเคลื่อนที่สำรวจพื้นผิวในภารกิจเดียว พร้อมเก็บข้อมูลการสำรวจทางวิทยาศาสตร์จาก ดาวอังคาร
ยานอวกาศซึ่งประกอบด้วย ‘ยานโคจรและยานสำรวจ’ ถูกส่งเข้า วงโคจรขนย้าย (Transfer Orbit) ระหว่าง โลก-ดาวอังคาร
จีน เป็น 1 ใน 3 ประเทศที่เผยแผนการปล่อยยาน สำรวจดาวอังคารภายในปีนี้ โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ปล่อย ยานสำรวจโฮป ขึ้นสู่อวกาศ ส่วน สหรัฐอเมริกา ก็วางแผนที่จะปล่อย ยานสำรวจดาวอังคารเพอร์ซิเวียรันซ์ ในอนาคตอันใกล้
ที่ผ่านมามนุษย์เฝ้าติดตามศึกษาดาวอังคารมาโดยตลอด ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 มีความพยายามที่จะส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคารมาแล้วหลายสิบครั้ง
เหตุใดมนุษย์จึงมุ่งมั่นอยากไป ‘สำรวจดาวอังคาร’ ดาวเพื่อนบ้านที่อยู่ถัดจากเราดวงนี้ให้ได้
ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่คล้ายคลึงกับโลกมากที่สุดในระบบสุริยจักรวาล ทั้งทางน้ำที่แห้งผาก ดินดอนสามเหลี่ยมทะเลสาบ และแร่ธาตุจำนวนมากซึ่งจะเกิดจากแหล่งน้ำเท่านั้น เป็นหลักฐานที่ชี้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีน้ำบนดาวอังคาร
สำรวจดาวอังคาร
สิ่งเหล่านี้นำพาเหล่านักวิทยาศาสตร์ไปสู่คำถามที่ว่า “เคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคาร หรือตอนนี้มีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารหรือไม่” และ “ดาวอังคารจะกลายเป็นบ้านหลังใหม่ของมนุษย์ได้หรือเปล่า”
นอกจากนี้ ลักษณะทางธรณีสัณฐานของดาวอังคารก็ยังคงอยู่ในสภาพดี พบการมุดตัวของเปลือกโลก การจมตัวของเปลือกโลก และการกัดเซาะของเปลือกโลกในปริมาณเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นเสมือนประตูสู่อดีตที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถก้าวย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาหลายพันล้านปีก่อนได้ นับเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้มนุษย์ยังคงเฝ้ามองดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้
ทุกความพยายามจะดำเนินต่อไป เพื่อคลี่คลายปริศนาเกี่ยวกับดาวอังคาร โลก และระบบสุริยจักรวาลของเรา
จีนปล่อย ‘ยานสำรวจดาวอังคาร’ ทะยานสู่ห้วงอวกาศสำเร็จในภารกิจแรกของประเทศ
จีนปล่อยยาน สำรวจดาวอังคาร ในภารกิจแรกของประเทศ ที่มณฑลไห่หนาน วันที่ 23 ก.ค. 63 มีจุดมุ่งหมายในการโคจร ลงจอด เคลื่อนที่สำรวจพื้นผิวในภารกิจเดียว และเก็บข้อมูลการสำรวจทางวิทยาศาสตร์จากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะดวงนี้
จรวดลองมาร์ช-5 (Long March-5) ซึ่งเป็นยานพาหนะขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ได้บรรทุกยานอวกาศที่มีมวล 5 ตัน ทะยานสู่ท้องฟ้า จากฐานปล่อยยานอวกาศเหวินชาง ริมชายฝั่งของมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) มณฑลเกาะทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อเวลา 12.41 น. ตามเวลาปักกิ่ง
องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) รายงานว่าราว 36 นาทีต่อมา ยานอวกาศซึ่งประกอบด้วยยานโคจรและยานสำรวจ ถูกส่งเข้าวงโคจรขนย้าย (Transfer Orbit) ระหว่างโลก-ดาวอังคาร นับเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางยาวนาน 7 เดือน สู่ดาวอังคารหรือเคราะห์สีแดงดวงนี้
ภารกิจสำรวจดาวอังคารภารกิจแรกของจีนนี้ใช้ชื่อว่า “เทียนเวิ่น-1” (Tianwen-1) มีความหมายว่า “คำถามสู่สรวงสวรรค์” ตั้งตามกวีนิพนธ์ซึ่งประพันธ์โดยชวีหยวน (ราว 340-278 ปีก่อนคริสตกาล) หนึ่งในกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคจีนโบราณ
องค์การระบุว่าชื่อนี้ แสดงถึงความมุมานะของจีนในการแสวงหาความจริงและวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการสำรวจธรรมชาติและจักรวาล
มาทำความรู้จักดาวอังคารกัน
ดาวอังคาร (Mars) เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่สี่จากดวงอาทิตย์ เป็นดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดอันดับที่สอง ในระบบสุริยะ รองจากดาวพุธ ในภาษาอังกฤษได้ชื่อตามเทพเจ้าแห่งสงครามของโรมัน มักได้รับขนานนาม ‘ดาวแดง’ เพราะมีออกไซด์ของเหล็กดาษดื่นบนพื้นผิวทำให้มีสีออกแดงเรื่อ ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์หินที่มีชั้นบรรยากาศเบาบาง มีลักษณะพื้นผิวคล้ายคลึงกับทั้งหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ และภูเขาไฟ หุบเขา ทะเลทราย ตลอดจนพิดน้ำแข็งขั้วดาวที่ปรากฏบนโลก
คาบการหมุนรอบตัวเอง และวัฏจักรฤดูกาลของดาวอังคารก็มีความคล้ายคลึงกับโลกซึ่งความเอียงก่อให้เกิดฤดูกาลต่างๆ ดาวอังคารเป็นที่ตั้งของโอลิมปัสมอนส์ ภูเขาไฟใหญ่ที่สุดบนดาวอังคารและสูงสุดอันดับสองในระบบสุริยะเท่าที่มีการค้นพบ และเป็นที่ตั้งของเวลส์มาริเนริส แคนยอนขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ในระบบสุริยะ แอ่งบอเรียลิสที่ราบเรียบในซีกเหนือของดาวปกคลุมกว่า 40% ของพื้นที่ทั้งหมดและอาจเป็นลักษณะการถูกอุกกาบาตชนครั้งใหญ่
source https://www.thebangkokinsight.com/402006/