“โรคมือ เท้า ปาก” (Hand, Foot and Mouth Disease) หรือ "มือเท้าปาก" มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส Enterovirus ที่มีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ พบระบาดมากในเด็กทารกเเละเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรครายงานว่าสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากในไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 พบผู้ป่วย 6,812 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากมากที่สุดในเด็กแรกเกิด - 4 ปี (ร้อยละ 82.56) รองลงมาคืออายุ 7-9 ปี (ร้อยละ 4.80) และอายุ 5 ปี (ร้อยละ 4.74) ตามลำดับ ทั้งนี้ อาการมือเท้าปากเริ่มต้นอาจมีไข้ มีแผลในปาก เเละมีผื่นแดงที่ฝ่ามือฝ่าเท้า หากมีอาการเเทรกซ้อนรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ หลายคนสงสัยว่าเป็นมือเท้าปากเเล้วจะคันไหม เป็นมือเท้าปากเเต่ไม่มีไข้ได้ไหม โรคมือเท้าปากในผู้ใหญ่เป็นอย่างไร วันนี้รวบรวมข้อมูลโรคมือเท้าปากมาฝากกัน
1. โรค "มือเท้าปาก" คืออะไร ?
โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot and Mouth Disease หรือ HFMD) คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่สามารถเจริญเติบโตได้ในลำไส้ หรือเชื้อไวรัสกลุ่มเอ็นเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์มากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธ์ุที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปากที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่ คอกซากีไวรัส เอ16 (Coxsackievirus A16) ซึ่งมักไม่มีความรุนแรงถึงชีวิต และเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71 หรือ EV71) ซึ่งเป็นชนิดที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น ก้านสมองอักเสบ หัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอดอย่างเฉียบพลัน เเละนำไปสู่การเสียชีวิตในอัตราที่สูงมาก พบการระบาดของโรคมือเท้าปากในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นกลุ่มเด็กทารกเเละเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนเเรงมากกว่าในกลุ่มเด็กโต เเละพบการเกิดโรคมือเท้าปากในผู้ใหญ่อยู่บ้าง
2. โรค "มือเท้าปาก" มีอาการอย่างไร
อาการของโรคมือเท้าปาก จะเริ่มแสดงอาการภายหลังจากที่เชื้อไวรัสฟักตัวอย่างเต็มที่ในระยะเวลา 3-7 วันหลังจากที่ได้รับเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่มีอาการหรือมีอาการเริ่มต้นด้วยอาการคล้ายไข้หวัด ทั้งไข้ต่ำหรือไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมาหลังจากนั้น 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการน้ำลายไหล กลืนน้ำลายไม่ได้ เเละเจ็บภายในช่องปากจากแผล/ตุ่มแดงอักเสบในช่องปากมีที่มีลักษณะเฉพาะ คือ มีลักษณะเป็นจุดแดงๆ ในหลายตำแหน่ง เช่น บริเวณลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก (เพดานเเข็ง และ/หรือเพดานอ่อน) หรือลามออกมาที่รอบๆ ริมฝีปาก ซึ่งส่งผลให้อาจมีภาวะขาดน้ำและอ่อนเพลียจากการทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อยลง เนื่องจากอาการเจ็บแผลภายในช่องปาก
3. โรค "มือเท้าปาก" กลุ่มเสี่ยงเป็นใครบ้าง
กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปาก คือ เด็กทารก เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือผู้ที่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน พบน้อยลงในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และน้อยมากในเด็กวัยรุ่น
4. โรค "มือเท้าปาก" แพร่เชื้อ/ติดต่ออย่างไร
การเเพร่เชื้อของโรคมือเท้าปากจะเเพร่กระจายและติดต่อสู่ร่างกายผ่านทางปากได้โดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอจาม น้ำเหลืองจากแผลพุพอง ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือติดต่อจากคนสู่คนโดยการปนเปื้อนอุจจาระสู่ปาก (Faecal-oral Route) อีกทั้งยังสามารถติดต่อทางอ้อมจากการสัมผัสเครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย เช่น ของเล่น ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน น้้าและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือเชื้อไวรัสที่ติดอยู่บนมือ ทั้งนี้ การติดต่อทางน้ำหรืออาหารมีโอกาสเกิดได้น้อย และโรคมือเท้าปากไม่ติดต่อโดยการหายใจ
5. โรค "มือเท้าปาก" มีวิธีรักษาอย่างไร
วิธีรักษาโรคมือเท้าปากในปัจจุบันจะยังไม่มียารักษาโรคเฉพาะโดยตรง เเต่โรคมือเท้าปากสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน หากไม่มีภาวะเเทรกซ้อนร้ายแรง โดยในระหว่างที่เเสดงอาการจะเน้นการรักษาโรคตามแต่ละอาการของผู้ป่วย เช่น หากผู้ป่วยมีอาการไข้เเละเจ็บแผล สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้ปวดลดไข้ ประเภทพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ห้ามใช้สเตียรอยด์ (Steroids) หรือหากมีอาการคันก็สามารถใช้ยาแก้แพ้ แก้คันร่วมด้วยได้ รวมถึงสามารถเช็ดตัวเเละทำความสะอาดช่องปากด้วยการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ ในผู้ป่วยที่โตพอที่จะบ้วนปากได้ด้วยตัวเอง พร้อมกับให้รับประทานอาหารอ่อนนุ่มที่ให้พลังงาน ไม่อุ่นร้อน รสชาติไม่จัด ไม่เปรี้ยว ไม่เผ็ด เเละไม่ซ่า เช่น นมเย็น พุดดิ้ง หรือไอศกรีม เพื่อลดการระคายเคืองแผลในช่องปาก ทั้งนี้ หากเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อมนมให้แทนการดูดนม เพื่อลดการปวดแผลในปาก
6. โรค "มือเท้าปาก" ป้องกันอย่างไร
วิธีป้องกันโรคมือเท้าปากสามารถป้องกันได้โดยการดูแลรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ทั้งผู้เลี้ยงดู เเละเด็กเล็ก ต้องหมั่นล้างทำความสะอาดมือด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปโดยเฉพาะตอนก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังขับถ่าย หรือหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก/จมูกเวลาไอหรือจาม และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
7. โรค "มือเท้าปาก" ค่ารักษาเท่าไร
ค่าใช้จ่ายในการพบเเพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคมือเท้าปากในเเต่ละครั้ง อาจเริ่มต้นที่ครั้งละ 1,000-2,000 บาท สำหรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ในขณะที่การนอนรับการรักษาที่โรงพยาบาล (IPD) ในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปากชนิดรุนเเรง อาจเริ่มต้นที่คืนละ 20,000-35,000 บาท เเละค่ารักษาโรคมือเท้าปาก อาจเริ่มต้นที่ 30,000-120,000 บาท (โดยประมาณ) แตกต่างตามความรุนเเรงของอาการเเละประเภทโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา ทั้งนี้ ควรเลือกทำประกันสุขภาพเด็กที่ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เพื่อความสะดวกในการเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
อ่านข้อมูลโรคมือเท้าปาก ต่อได้ที่ https://www.smk.co.th/newsdetail/1691